อ่างพวง

เริ่มจากหัวหิน

      จากสาเหตุที่เกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก เนื่องจากพื้นที่แห้งแล้ง แม้จะมีอ่างเก็บน้ำอยู่จำนวนมาก แต่ก็มีเพียงขนาดเล็ก ไม่เพียงพอกับความต้องการ และอ่างเก็บน้ำที่มีความจุพอสมควรก็มีไม่เพียงพอ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาในอนาคตทรงคาดการณ์ถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดปัญหาความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำ จึงได้มีพระราชดำริให้จัดหาแหล่งน้ำและจัดทำระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) ทำให้หลายพื้นที่พ้นจากสภาพแห้งแล้งและกลับพลิกฟื้นผืนดินกลายเป็นความอุดมสมบูรณ์ในที่สุด ทรงมีพระราชดำริ เรื่องระบบอ่างพวงครั้งแรก วันที่ 30 มิถุนายน 2532 เพื่อการจัดหาน้ำในพื้นที่เพาะปลูก ในเขตอ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นการจัดทำระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ โดยเริ่มจากการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดความจุปริมาณมากในบริเวณที่เหมาะสม อาทิ ในเขตต.หนองพลับ ที่มีโครงการพัฒนาที่ดินหนองพลับอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำจำนวนมากที่สร้างไว้มีขนาดเล็กสำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดความจุพอสมควรก็มีเพียงอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดและอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งขามเท่านั้นจึงเห็นสมควรก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดความจุมากๆ ตามท้องที่ต่างๆ ที่เหมาะสม อาทิ ในเขตตำบลหนองพลับ ซึ่งมีโครงการพัฒนาที่ดินหนองพลับอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ขาดแคลนน้ำมากในเวลาฝนแล้ง และต่อมาในวันที่ 24 กรกฎาคม 2535 ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมให้กรมชลประทานจัดหาน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีศักยภาพดีกว่ามาช่วยเหลืออ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดต่อไป

หลักการทำงานของระบบอ่างพวง

การทำงานของอ่างพวงมีหลักการอยู่ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ตอนบนสามารถปล่อยน้ำลงมาเติมอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดเล็กได้ที่อยู่ตอนล่างได้ โดยการเชื่อมต่อท่อส่งน้ำในแต่ละอ่างเก็บน้ำเข้าหากัน ดังแสดงตามภาพระบบบริหารจัดการน้ำในระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ(อ่างพวง) ทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นราษฎรสามารถมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดจนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรทั้งนี้จะต้องมีแผนงานในการใช้จ่ายน้ำของแต่ละปีหรือฤดูกาลเพาะปลูกเพื่อให้มีน้ำในการบริหารได้ตลอดทั้งปี

ขยายสู่พื้นที่ภาคตะวันออก

ระบบอ่างพวงมีการพัฒนาต่อเนื่องตามพระราชดำริ จากปี 2532 เสร็จสมบูรณ์ปี 2549 ไม่เพียงแต่ในพื้นที่อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดใกล้เคียง เช่น เพชรบุรี และอีกหลายพื้นที่ในภาคตะวันออก ยังได้น้อมนำไปใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการน้ำโดยนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณมาก สู่อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อย จากอ่างหนึ่งไปยังอีกอ่างหนึ่ง เพื่อให้พื้นที่มีน้ำอย่างเพียงพอ ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน จนเกิดเป็นเครือข่ายการใช้น้ำ พื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ถือเป็นพื้นที่แรกที่มีการเชื่อมโยงระบบน้ำอย่างสมบูรณ์ที่สุด ด้วยศาสตร์พระราชาที่เกี่ยวข้องกับระบบการกระจายน้ำที่มีความสอดคล้องเชื่อมโยง คือมีแหล่งเก็บน้ำ มีระบบกระจายน้ำ และโครงสร้างระบบท่อที่เป็นโครงข่าย

       เริ่มต้นที่ จ.ระยอง จากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งขณะนี้มีปริมาณกักเก็บน้ำ 238 ล้านลบ.ม.เชื่อมโยง อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม และการผลิตประปา เพื่อการอุปโภค-บริโภค และภาคเกษตร ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1 แสนไร่ และต้องเชื่อมโยงน้ำไปยัง จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งถือว่าไม่มีเพียงพอ ดังนั้นจึงมีแนวคิดการนำน้ำจาก จ.จันทบุรีมาใช้ ด้วยการจัดสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ซึ่งขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองประแกต ปริมาณเก็บน้ำ 60 ล้านลบ.ม ส่วนอีก 2 อ่างเก็บน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ โดยสามารถเก็บน้ำรวมกันได้ประมาณ 140 ล้านลบ.ม. ขณะที่อีกแห่งหนึ่งยังอยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม คือ อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ที่จะช่วยกัก้เก็บน้ำได้ประมาณ 100 ล้านลบ.ม. แหล่งต้นน้ำจาก จ.จันทบุรี ก่อนหน้าที่จะมีอ่างเก็บน้ำนั้น น้ำส่วนใหญ่จะไหลลงทะเลโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ปีละกว่า 1,000 ล้านลบ.ม. ดังนั้นกรมชลประทาน จึงได้จัดทำระบบท่อ เพื่อสูบน้ำดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ผ่านสถานีสูบน้ำบ้านวังประดู่ ผ่านคลองวังโตนดมาเติมในอ่างเก็บน้ำประแสร์วันละ 4.5 แสนลบ.ม. โดยน้ำเหล่านี้นอกจากใช้ในจ.ระยอง แล้ว จะเชื่อมต่อไปยัง จ.ชลบุรี โดยผ่านโครงการวางระบบเชื่อมโยงน้ำ จากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ.ศรีราชา แล้วผ่านไปสู่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ซึ่งถือเป็น HUB ธนาคารน้ำ ที่สามารถกักเก็บน้ำได้ทั้งหมด 117 ล้านลบ.ม. สถานการณ์การใช้น้ำในภาคตะวันออก ยังต้องมีการเติมเต็มในแหล่งน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งขณะนี้มีเพียง อ่างเก็บน้ำสียัด โดยในปีนี้มีปริมาณน้ำน้อยมาก ประมาณ 20% ของปริมาณกักเก็บน้ำปกติที่ 300 ล้านลบ.ม. โดยอาจกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งในอนาคตจะมีแผนสร้างอ่างเก็บน้ำอีกประมาณ 3 แห่งด้วยกันคือ อ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน อ่างเก็บน้ำหนองกระทิง และอ่างเก็บน้ำตะพง เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ EEC โดยเฉพาะในจ.ฉะเชิงเทรา และอยู่ในแผนงบประมาณปี 2564 ด้านกลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับประโยชน์จาก การน้อมนำพระราชดำริ “อ่างพวง” มาใช้ อย่างกลุ่มผู้ใช้น้ำกระแสบน ปี 2551 ( ปีก่อตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ) ต.กระแสบน อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากน้ำไม่เพียงพอทำการเกษตรตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี 2563 ตั้งแต่ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำ จนกระทั่งปีนี้ ที่น้ำในอ่างฯ น้อย

      หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 17 มีนาคม 2529

อินโฟกราฟิก :อ่างพวง

แหล่งอ้างอิง :

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.

Tantiwattanapanich, K. (n.d.). Khun Dan Prakan Chon dam. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. https://www.egat.co.th/en/information/power-plants-and-dams?view=article&id=480

Www.EZYNOW.com. (n.d.). โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา เขื่อนขุนด่านปราการชล จ. นครนายก. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา เขื่อนขุนด่านปราการชล จ. นครนายก. https://www.khundan.com/home.php

การขับเคลื่อน “ธัชชา” กลไกสำคัญด้านวิชาการ วิจัยและพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศ

ศาสตร์ของพระราชา

ด้านการเกษตร
ด้านการส่งเสริมอาชีพ
ด้านคมนาคมและสื่อสาร
ด้านสวัสดิการและการศึกษา
ด้านสาธารณสุข
ด้านแหล่งน้ำ
ด้านสิ่งแวดล้อม

ติดต่อเรา

666 888 0000
isetassha@gmail.com
อ.เมือง จ.เชียงราย
57100