ก่อนการจัดตั้งศึกษา
ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่บริเวณนี้เป็นดินเค็มเพราะน้ำทะเลขึ้นถึง พื้นที่ป่าชายเลนถูกบุกรุก แผ้วถาง ไปใช้ประโยชน์ บางแห่งกลายเป็นบ่อปลาและบ่อกุ้ง เมื่อเริ่มดำเนินโครงการจากปี 2524 จนถึงปัจจุบัน สามารถฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนได้เพิ่มมากถึง 1,300 ไร่ จากที่เหลือเพียง 610 ไร่
งานวิจัยใช้พัฒนา
ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการศึกษา ทดลอง วิจัย จนเกิดผลแล้ว 134 เรื่อง สามารถนำไปประกอบการส่งเสริมพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและการเกษตร และเป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากร แบ่งเป็นงานวิจัยด้านต่าง ๆ ดังนี้ – การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 54 เรื่อง – การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม 18 เรื่อง – การพัฒนาป่าไม้ 24 เรื่อง – การพัฒนาการเกษตร 19 เรื่อง – การพัฒนาที่ดิน 10 เรื่อง – เศรษฐกิจสังคม 9 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลด้วยระบบชลประทานน้ำเค็ม นำไปสู่การรวมตัวเพื่อจัดตั้ง กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบชลประทานน้ำเค็ม มีสมาชิกกว่า 198 คน มีพื้นที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง 1,025 ไร่ ร่วมบริหารระบบชลประทานน้ำเค็ม โดยมีศูนย์ฯ เป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนทางวิชาการ สมาชิกในกลุ่มสามารถผลิตกุ้งได้เฉลี่ย 971.13 เมตริกตันต่อปี มูลค่าประมาณ 101.48 ล้านบาทต่อปี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีรายได้เฉลี่ย 279,191 และ รายจ่ายเฉลี่ย 104,701 บาทต่อครัวเรือน ต่อปี
ฟาร์มมาตรฐานสากล มีการส่งเสริมการทำฟาร์มมาตรฐาน GAP/CoC ซึ่งเป็นตัวชี้วัดด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญ เกษตรกรสามารถดำเนินการปรับปรุงฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจนได้รับการรับรองตามมาตรฐานดังกล่าวจำนวน 1,177 ฟาร์มใน อำเภอนายายอาม และอำเภอท่าใหม่ การรับรองตามมาตรฐานนี้เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญของการเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยสำหรับการส่งจำหน่ายในต่างประเทศ ประมงชายฝั่งพื้นบ้านเพิ่มสภาพคล่อง ชาวประมงสามารถจัดกลุ่มประมงจำนวน 7 กลุ่ม มีสมาชิก 205 คน เพื่อทำการประมงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถบริหารเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่มให้สมาชิกกู้ประกอบอาชีพประมงได้ โดยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ปัจจุบันทั้ง 7 กลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 2 ล้านบาท
เพิ่มชีวิตเพื่อสร้างชีวิต มีการผลิตและปล่อยสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น ปลากะพงขาว ปลากะรัง กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ และปูม้า ศูนย์ฯ ได้มอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่นักเรียน นักศึกษา เยาวชน เกษตรกรและประชาชน น้ำปีละ 20 ล้านตัว เพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเป็นการเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำในบริเวณชายฝั่งทะเล และอ่าวคุ้งกระเบน เพื่อประโยชน์ในการทำการประมงพื้นบ้าน ภารกิจถ่ายทอดองค์ความรู้ มีการจัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการประมงให้นักเรียน เกษตรกร และประชาชน ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อประกอบอาชีพหลักและอาชีพรอง สาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความรู้ความเข้าใจ และเป็นทางเลือกที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพด้านการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน ควบคู่งานบริการทางวิชาการ ดำเนินการบริการวิชาการด้านการตรวจสอบคุณภาพน้ำและดิน เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตรวจวิเคราะห์โรค ตรวจสอบการปนเปื้อนของปัจจัยการผลิต และตรวจสอบยาปฏิชีวนะตกค้างในผลผลิตสัตว์น้ำ เช่น กุ้งทะเล และให้คำปรึกษา แนะนำเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ไปจนถึงการออกใบรับรองการตรวจสอบยาปฏิชีวนะตกค้างให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 รายต่อปี อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าคุ้งกระเบน และป่าอ่าวแขมหนู มีพื้นที่ป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบน 1,650 ไร่ ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการอนุรักษ์ป่าชายเลนที่เหลือเพียง 610 ไร่ จัดสรรพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเล 728 ไร่ และส่งเสริมสนับสนุนฟื้นฟูโดยการปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมหลังแปลงนากุ้ง 312 ไร่ และในอ่าวคุ้งกระเบนประมาณ 378 ไร่ ทำให้ในปัจจุบัน ป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบนมีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ป่าชายเลนทั้งสิ้น 1,300 ไร่
ส่งเสริมและขยายผลพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ศูนย์ฯ จัดให้มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนระยะทางประมาณ 1,700 เมตร ลัดเลาะเข้าไปในป่าชายเลน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ความรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนแก่ผู้ศึกษาดูงานและนักท่องเที่ยว และได้ให้คำแนะนำวางรูปแบบการจัดสร้างสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 แห่ง ได้แก่
– ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
– ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี
– ตำบลปากน้ำ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัด สมุทรปราการ
– ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ศูนย์ฯ ดำเนินการฝึกอบรมและส่งเสริมราษฎรหมู่ 1 บ้านโขมงล่าง ตำบลโขมง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรีให้มีการจัดตั้ง กลุ่มผู้นำการท่องเที่ยว บริการแก่นักท่องเที่ยวเพื่อชมหิ่งห้อยบริเวณป่าชายเลน อ่าวเกาะนก สามารถบริการนักท่องเที่ยวแล้ว 1,200 คน
พัฒนากลุ่มอาชีพป่าไม้
มีการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และรายได้ของประชาชนที่อาศัยอยู่รอบป่าชายเลนและป่าบก โดยดำเนินการในลักษณะคนอยู่กับป่า ส่งเสริมการรวมกลุ่มจำนวน 30 กลุ่ม มีสมาชิก 292 ราย เพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากผลประสัก กลุ่มปลูกพืชสมุนไพรและผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพเพื่อผลิตผักและผลไม้ กลุ่มอนุรักษ์พืชป่าและหัตถกรรมพื้นบ้าน กลุ่มปลูกต้นสำรองเพื่อการแปรรูป กลุ่มอนุรักษ์ต้นคลุ้ม-คล้า และหัตถกรรมพื้นบ้านงานจักสานเป็นต้น
เห็ดเศรษฐกิจขจัดความจน
ส่งเสริมให้มีการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ ด้วยการฝึกอบรมและสนับสนุนเกษตรกรที่มีความสนใจในกิจกรรมเพาะเห็ดเศรษฐกิจ สามารถช่วยเกษตรกรดำเนินการเพาะเห็ดให้มีรายได้จากการเพาะ เห็ดนางฟ้า เห็ดขอนขาว และเห็ดยานางิ จำนวน 20,000 ถึง 200,000 บาทต่อปี เกษตรกรสามารถรวมตัวจัดตั้ง กลุ่มเพาะเห็ดเศรษฐกิจครบวงจรที่ บ้านไร่เก่า หมู่ที่ 8 ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี มีสมาชิก 26 ราย ทำการผลิตและแปรรูปผลผลิตเห็ด สามารถดำเนินการอบรมการเพาะเห็ดแก่นักเรียนและเกษตรกรนอกพื้นที่ปีละ 200 ราย โดยนักเรียนสามารถผลิตเห็ดนางฟ้าเฉลี่ย 350 กิโลกรัมต่อโรงเรียนในห้วงเวลา 3 เดือน
ข้าวพันธุ์ดีและโรงสีชุมชน
มีการผลิตข้าวพันธุ์ดีและโรงสีชุมชน ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนข้าวพันธุ์พื้นเมือง โดยให้เกษตรกรผลิตข้าวพันธุ์ดี เช่น ข้าวหอมมะลิ 105 ปทุมธานี 60 เพื่อบริโภคในครัวเรือน และเหลือจำหน่ายเข้าสู่โรงสีข้าวชุมชน ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมผลิตข้าวพันธุ์ดีจำนวน 11 ราย ในพื้นที่ 930 ไร่
อินโฟกราฟิก :ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
แหล่งอ้างอิง :
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
Tantiwattanapanich, K. (n.d.). Khun Dan Prakan Chon dam. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. https://www.egat.co.th/en/information/power-plants-and-dams?view=article&id=480
Www.EZYNOW.com. (n.d.). โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา เขื่อนขุนด่านปราการชล จ. นครนายก. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา เขื่อนขุนด่านปราการชล จ. นครนายก. https://www.khundan.com/home.php