พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงสืบสานพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะโครงการสำคัญ ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการระบายน้ำบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรปราการ ที่ทำหน้าที่ในการรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนและช่วงฤดูน้ำเหนือไหลหลาก เพื่อระบายลงสู่ทะเลก่อนที่จะเข้าสู่พื้นที่ในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ทรงให้มีการติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง เพื่อทรงรับทราบถึงสถานการณ์และแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด พัฒนาโครงการฯ ให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุดต่อไป
พระราโชบายเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว โดยเมื่อพ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำริให้พัฒนาต้นน้ำลำธารปราจีนบุรี โดยให้พิจารณาสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนห้วยพระปรง เขื่อนห้วยยาง และเขื่อนห้วยโสมง เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรใช้ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปี นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมงในอีกหลายโอกาส ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการชลประทานประเภทอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำห้วยพระปรงและลุ่มน้ำห้วยโสมง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปราจีนบุรีหรือแม่น้ำบางปะกง เนื่องจากเห็นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี และลุ่มน้ำบางปะกงตอนบนได้ และยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ ได้อีกด้วย ดังพระราชดำรัสที่ว่า ควรพิจารณาสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำห้วยโสมง ทำเลที่สร้างเขื่อน พิกัด 48 PSA 806-585 แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ระหว่าง 5437 III โดยด่วน ทั้งนี้ควรพิจารณาเก็บกักน้ำอย่างเต็มที่เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรสองฝั่งห้วยโสมง ในเขตอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปี ได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการห้วยโสมง จังหวัดปราจีนบุรีถึง 6 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา โดยครั้งสุดท้ายทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการดำเนินการในโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2544 ว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี และสระแก้ว ตามพระราชดำริ อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำพระปรง อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน อ่างเก็บน้ำท่ากระบาก และอ่างเก็บน้ำอื่น ๆ เป็นโครงการที่ดีมากทำให้มีปริมาณน้ำใช้เพิ่มมากขึ้น และผลที่ได้รับเพิ่มเติม ก็คือ ทำให้ดินมีการพัฒนาตามมาด้วย กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมเสนอแผนแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้วเสร็จ เมื่อปี 2538 จากนั้น ได้มีการแก้ไขรายงานฯ อีกรวม 2 ครั้งในปี 2546 ต่อมา ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่แล้วเสร็จภายในปี 2550 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการห้วยโสมง วันที่ 26 สิงหาคม 2552 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการโครงการห้วยโสมงฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 สำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือ ที่ รล 0008/4874 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ถึง สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ความว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ยังไม่พิจารณาผ่านโครงการนี้ ซึ่งความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชกระแสให้สอบถามว่าจะสามารถสร้างได้หรือไม่ และให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนและแนวทางการดำเนินงานโครงการดังกล่าวสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553 ได้ทรงมีข้อห่วงใย และมีพระราชดำรัสกับนายศิริพงษ์ ห่านตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่า โดยเห็นควรให้มีการฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ การประชาสัมพันธ์โครงการให้ทุกฝ่ายรับรู้และเข้าใจทั่วกัน
ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานชื่อ อ่างเก็บน้ำห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา (อ่านว่า นะ-รึ-บอ-ดิน-ทระ-จิน-ดา) มีความหมายว่า อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อยู่ในพื้นที่อำเภอนาดี กับกบินทร์บุรี ใช้เป็นแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่และป้องกันน้ำท่วม รักษาระบบนิเวศในแม่น้ำปราจีนบุรีและบางปะกงปัจจุบันการดำเนินงานก่อสร้างเขื่อนและอาคารประกอบ พร้อมส่วนประกอบอื่นของอ่างเก็บน้ำเสร็จแล้ว พร้อมกักเก็บน้ำได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 เป็นต้นมา สามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอนาดี และช่วยให้ราษฎรได้รับน้ำจืดเพื่อการเกษตรกรรม รวมทั้งสามารถผลิตน้ำประปาได้มีคุณภาพ ตลอดจนช่วยรักษาระบบนิเวศทั้งในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกง ระบบนิเวศป่า และทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังช่วยผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในจังหวัดปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกงได้อีกด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้
แหล่งน้ำต้นทุน
เขื่อนห้วยโสมง เป็นแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนจำนวน 111,300 ไร่ และฤดูแล้งจำนวน 45,000 ไร่ ในเขตอำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ที่ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี และลุ่มน้ำสาขา เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรและใช้ในการประปา ช่วยรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกง และเป็นแนวกันชนหรือแนวป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้ ทำให้โอกาส การเกิดไฟไหม้ป่าลดลง หรือหากเกิดไฟป่าก็จะมีแหล่งน้ำต้นทุนที่จะสามารถนำน้ำมาใช้ดับไฟป่าได้
สืบสานพระราชปณิธาน
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนห้วยโสมง) ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายทองเปลว กองจันทร์ ช่วยราชการอธิบดีกรมชลประทาน นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี นายสาโรจน์ เอี่ยมองค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดปราจีนบุรี พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.ท.จิตติ รอดบางยาง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 พร้อมข้าราชการและประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จ
อินโฟกราฟิก :อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา (เขื่อนห้วยโสมง)
แหล่งอ้างอิง :
สำนักงาน กปร. (2561). เอกสารข้อมูลจากสำนักงาน กปร. โครงการสื่อศิลปิน รวมใจ ถวายในหลวง ครั้งที่ 3/2554 พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว. เว็บไซต์ โครงการสื่อศิลปิน รวมใจ ถวายในหลวงhttps://www.rdpb.go.th/rdpb/visit3/20-50project/50project_23_1.html
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ๓ ทศววรษ ศูนย์การศึกษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.