บ้านน้ำทรัพย์ เพชรบุรี ออกแบบชุมชนด้วยตนเอง

ชุมชนในหุบเขา

     อาชีพ ประชาชนในตำบลแก่งกระจานส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำไร่ ปลูกข้าวโพด มะม่วง มะนาว และเลี้ยงสัตว์นอกจากนั้นก็มีอาชีพรับจ้าง เช่น ในเขตอุทยานแห่งชาติ หรือในเขตชลประทาน ที่เหลือก็มีอาชีพค้าขาย ทำการประมง และอาชีพอื่นๆ ห่างออกไป จากตัวเมืองแก่งกระจาน ประมาณ 20 กิโลเมตร พื้นที่สูงเหนือเขื่อนแก่งกระจาน เป็นที่ตั้งของบ้านน้ำทรัพย์ ชุมชนขนาดเล็ก ที่มีประชากร 201 ครัวเรือน บ้านน้ำทรัพย์ มีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การเกษตรแบบผสมผสาน การปลูกมะนาว เลี้ยงโคเนื้อ เลี้ยงแพะ และทำประมงน้ำจืด พื้นเพเดิมของชาวบ้านน้ำทรัพย์ เป็นชาวตำบลวังจันทร์ ที่อพยพครอบครัวเข้ามาจับจองที่ดินทำกินในช่วงที่มีการสร้างเขื่อน เปิดป่าเพื่อให้สัมปทานทำไม้บริเวณขอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน เมื่อปี 2505 แรกเริ่มที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเลือกอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำที่เอื้อต่อการทำการเกษตรกรรม แต่ภายหลังจากการก่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จ และเริ่มมีการกักเก็บน้ำภายในเขื่อน ทำให้พื้นที่ราบที่เคยเหมาะแก่การเพาะปลูกกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งชาวบ้านจึงได้อพยพครอบครัวหนีน้ำมาตั้งถิ่นฐานใหม่ ไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง จนมาถึงบริเวณพื้นที่สูงเหนือเขื่อนแก่งกระจานซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนในปัจจุบัน

เคยอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่สุดท้ายล้มเหลวจากการประกอบอาชีพ

     เป็นคำกล่าวของ ผู้ใหญ่ชูชาติ วรรณขำ ซึ่งเล่าต่อไปว่า เมื่อย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ ทรัพยากรในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ และได้ใช้ประโยชน์จากการหาปลาในเขื่อนเพื่อเป็นรายได้เสริมนอกเหนือไปจากการทำเกษตร แต่เมื่อรัฐบาลได้มีนโยบายการออกเอกสารสิทธิ์ตามพื้นที่ที่มีการทำกินจริง ทำให้ชาวบ้านได้ทำการขยายพื้นที่ทำกินไปเรื่อยๆ ในพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ขณะเดียวกันก็มีนายทุนเข้ามาบุกรุก ตัดไม้ทำลายป่า ทำให้พื้นที่ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์กลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ภูเขาที่เคยเขียวขจีก็กลับกลายเป็นเขาหัวโล้น การมีพื้นที่ทำกินเพิ่มมากขึ้นไม่ได้ทำให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี หรือร่ำรวยขึ้น เพราะการอยู่ในพื้นที่เหนือเขื่อนทำให้เกษตรไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำในเขื่อนได้ชาวบ้านต้องพึ่งพาน้ำฝนเท่านั้นในการเพาะปลูก แต่เมื่อทรัพยากรป่าที่เคยมีถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำกินและกลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม เป็นที่มาของปัญหาฝนไม่ตกตามฤดูกาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของคนในชุมชน เพราะเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วง ไม่ตกตามฤดูกาลนั้น ทำให้เกษตรกรขาดน้ำในการเพาะปลูก ข้าวโพด ถั่ว ฝ้าย ซึ่งเป็นพืชหลักที่เกษตรกรปลูกเพื่อสร้างรายได้ จากที่เคยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละ 2 ครั้ง ก็ลดการเก็บเกี่ยวผลผลิตเหลือเพียงครั้งเดียว หรือ เก็บเกี่ยวไม่ได้เลย ปัญหานี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้ที่สะสมเรื่อยมา ตั้งแต่ปี 2526 สาเหตุของการเป็นหนี้ นอกจากสภาพดินฟ้าอากาศที่ส่งผลต่อการเพาะปลูก ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตามเป้าหมายของการเพาะปลูก เมื่อนำไปขายก็ถูกกดราคา รายได้ที่เข้ามาไม่เพียงพอต่อต้นทุนการผลิตที่จ่ายออกไป อีกปัจจัยหนึ่งคือการขาดแคลนแหล่งเงินทุน ต้องไปกู้เงินจากนายทุนนำไปชำระค่าปัจจัยการผลิตและลงทุนเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป เมื่อขายผลผลิตเงินที่ได้จึงถูกนำไปจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและลงทุนในปัจจัยการผลิตการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้น ทำให้การประกอบอาชีพและการทำมาหากินที่พึ่งพิงธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป จนเกิดวิกฤตการณ์หนี้สินภาคครัวเรือน และได้นำมาซึ่งการแก้ปัญหาโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้นำมากำหนดเป็นเป้าหมายหรือที่เรียกว่า วิสัยทัศน์ในการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของชุมชน มาตั้งแต่ปี 2540

วิสัยทัศน์ชุมชน นำชุมชนพ้นภัย

การพัฒนาในอดีตเป็นการพัฒนาที่เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น ถนน ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ แต่การประกอบอาชีพกลับไม่ได้รับการพัฒนาให้ทัดเทียมความเจริญของโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากปัจจัยทางธรรมชาติที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพของคนในชุมชน เรื่องราวความล้มเหลวจากการประกอบอาชีพถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยในปี 2540 บ้านน้ำทรัพย์ ได้กำหนดเป็นเป้าหมายในการดำเนิน 3 ประการคือ การแก้ไขปัญหายาเสพติด การฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการมีวิถีชีวิตพอเพียง การแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่สามารถดำเนินการสำเร็จภายใน 6 เดือน โดยใช้วิธีการพูดคุยและลงมือทำเองโดยไม่ต้องรอคอยหน่วยงานอื่นๆเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา เพราะหน่วยงานต่างๆ เรานั้นเขาไม่ได้อยู่กับเราทุกวัน ในขณะที่ภายในชุมชนเรามีปัญหาครอบครัว สังคม ที่มีสาเหตุมาจากปัญหายาเสพติด หากยังรอคอยต่อไปชุมชนจะได้รับผลกระทบมากขึ้น เมื่อทางอำเภอได้ทราบข่าวจึงเสนอแนะให้ประกาศเป็นหมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติปลอดยาเสพติดโดยใช้คำว่า เฉลิมพระเกียรติ เป็นแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนให้ความร่วมมือ มีการรณรงค์สร้างจิตสำนึก เอกซเรย์พื้นที่เพื่อตรวจหายาเสพติดและผู้ใช้สารเสพติดอย่างต่อเนื่อง ส่วนประชาคมหมู่บ้านครั้งสุดท้ายมั่นใจว่าบ้านน้ำทรัพย์ปลอดยาเสพติด เพราะมีการเฝ้าระวังป้องกันยาเสพติดตลอดเวลาและได้ประกาศเป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติดเมื่อ 21 มิถุนายน 2541 การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะ ป่าเสื่อมโทรมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เมื่อฝนไม่ตกจึงไม่มีน้ำสำหรับการเพาะปลูก พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ขายไม่ได้ราคา นำมาซึ่งปัญหามีรายได้ไม่พอใช้จ่ายจนก่อให้เกิดหนี้สินในครัวเรือน จึงได้ริเริ่มการฟื้นฟูป่าโดยกำหนดพื้นที่ป่าชุมชน ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกให้ชาวบ้านตลาดถึงความสำคัญของป่าไม้ รณรงค์และป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า

จุดเริ่มต้นของศูนย์เรียนรู้ … ศูนย์เรียนรู้ที่ไม่มีฐานเรียนรู้

     ความตั้งใจในการดำเนินกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายไม่ได้มุ่งหวังที่จะจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของกิจกรรมที่เกิดขึ้นคือแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยใช้แนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาขยายผลโดยใช้ครัวเรือนเป็นต้นแบบ ในอดีตนั้นการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพอยู่ในรูปแบบที่ต่างคนต่างทำไม่มีการรวบรวมองค์ความรู้ไม่มีการแบ่งปัน จึงเปลี่ยนแนวคิดใหม่ รวบรวมกลุ่มคนที่ผ่านการศึกษาดูงานหรือฝึกอบรมแล้วนำมาปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ตั้งเป็นคนต้นแบบ ส่งเสริมและสนับสนุนทั้งในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพและงบประมาณให้ดำเนินกิจกรรมจนประสบผลสำเร็จเป็นตัวอย่างให้แก่คนในชุมชน เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว หากทำแล้วดี ทำแล้วรวย จะมีคนทำตาม ขยายผลการดำเนินกิจกรรมจนครบทั้งหมู่บ้านในยุคแรกครอบคลุม 136 ครัวเรือน ปัจจุบันขยายผลสู่ครัวเรือนที่เพิ่มใหม่เป็น 201 ครัวเรือน แต่การเข้ามาของหน่วยงานต่างๆตั้งแต่ปี 2540 อาทิ กรมการพัฒนาชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กองพันทหารพัฒนากรมประมง ฯลฯ ที่เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนบ้านน้ำทรัพย์ทั้งความรู้ งบประมาณ และปัจจัยการผลิต ฯลฯ เมื่อเข้ามาส่งเสริมแล้ว หน่วยงานต่างๆเหล่านั้น ได้เข้ามาติดตามประเมินผลการส่งเสริมและรวบรวมองค์ความรู้ยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ตั้งแต่ปี 2550 จากนโยบายของกรมการพัฒนาชุมชนที่จัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ อำเภอละ 1 แห่งและได้รับการพัฒนาให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องอื่นๆ เช่น การแก้ไขปัญหายาเสพติด เศรษฐกิจพอเพียง สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน การจัดการทรัพยากรป่าไม้ ประมงต้นแบบ การเกษตรแบบผสมผสาน การส่งเสริมอาชีพ การปลูกมะนาว การเลี้ยงแพะ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งความรู้ของบ้านน้ำทรัพย์นั้น มีแต่เรื่องราวไม่มีการสาธิตแต่ดูได้จากของจริง ความรู้ของบ้านน้ำทรัพย์คือเรื่องราวความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาชุมชนด้วยการใช้แนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยแท้จริงแล้วปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผลสำเร็จไม่ใช่แค่การคิดตาม แต่คือการนำไปปฏิบัติให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ศูนย์เรียนรู้บ้านน้ำทรัพย์จึงมีแต่เรื่องราวที่ทำให้หมู่บ้านเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการสาธิต แต่สามารถดูจากการปฏิบัติจริง เพื่อนำไปเปรียบเทียบให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถเยี่ยมชมของจริง ได้ทุกครัวเรือน

ความสำเร็จของบ้านน้ำทรัพย์

     คือการทำเรื่องเดิมซ้ำๆ จนประสบความสำเร็จ เป้าหมายในอนาคตจึงเป็นการทำซ้ำในเรื่องเดิม แต่ยกระดับสู่การถ่ายทอดเพื่อปลูกฝังให้แก่เยาวชน และเชื่อมโยงกับกลุ่มต่างๆ ภายนอกชุมชน ในขณะที่ศูนย์เรียนรู้และกลุ่มต่างๆภายในชุมชนต้องเลี้ยงตัวเองได้เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องและมีทุนพอสำหรับสร้างงานให้คนอย่างน้อย 1 คน

แหล่งอ้างอิง :

แหล่งข้อมูล :”https://shorturl.asia/1Dv3y

การขับเคลื่อน “ธัชชา” กลไกสำคัญด้านวิชาการ วิจัยและพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศ

ศาสตร์ของพระราชา

ด้านการเกษตร
ด้านการส่งเสริมอาชีพ
ด้านคมนาคมและสื่อสาร
ด้านสวัสดิการและการศึกษา
ด้านสาธารณสุข
ด้านแหล่งน้ำ
ด้านสิ่งแวดล้อม

ติดต่อเรา

666 888 0000
isetassha@gmail.com
อ.เมือง จ.เชียงราย
57100