ชุมชนบ้านบัว พะเยา ต้นแบบวิถีพอเพียง

ความเป็นมาของการดำเนินโครงการ

      บ้านดอกบัว (บ้านบัว) แต่เดิมเป็นป่า มีปู่ติ๊บกับย่าสมนาสองผัวเมีย และมีบ้านปู่อีกคนไม่ทราบชื่อ โดยเริ่มแรกมีบ้านอยู่สองหลังเท่านั้น ปู่ติ๊บกับย่าสมนา เป็นคนบ้านตุ่นกลางประกอบอาชีพทำไร่ทำสวนเลี้ยงสัตว์ เห็นพื้นที่ป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการประกอบอาชีพจึงย้ายเข้ามาอยู่เป็นคนแรก ปู่บัวก็ได้ติดตามมาอยู่ด้วย จนตอนเช้าของวันหนึ่งปู่บัวซึ่งเป็นคนเคี้ยวหมากได้ลงไปเก็บใบพลู อยู่ ๆ ก็มีเสือมาตะครุบและกัดปู่บัวจนตาย ณ ที่นั้น ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า บ้านบัว (ดอกบัว) มาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันบ้านดอกบัวมีประชากร ๗๖๓ คน จำนวน ๒๑๕ ครัวเรือน แยกเป็นชาย ๓๗๙ คน หญิง ๓๘๗ คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำสวน ปลูกหญ้า เลี้ยงสัตว์และอาชีพหัตกรรมจักสานเข่งไม้ไผ่เป็นอาชีพที่ทำให้ประชากรในหมู่บ้านมีรายได้มาก มีผลิตภัณฑ์เด่นของหมู่บ้าน ได้แก่ ข้าว หญ้าแพงโกล่า ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่(เข่ง) ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา เป็นต้น อาชีพหลักของชาวบ้าน คือ การทำนา สำหรับนอกฤดูกาลทำนา ชาวบ้านบัวได้ใช้เวลาว่างประกอบอาชีพเสริมซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตและทรัพยากรในท้องถิ่นโดยใช้ต้นไผ่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมาทำสุ่มไก่ เข่ง ออกจำหน่าย ต่อมาชาวบ้านนิยมสานเข่ง สุ่มไก่กันมากขึ้น ทำให้ขายได้ไม่มากเท่าที่ควร จึงได้มีแนวคิดในการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มจักสานเข่งขึ้น ซึ่งช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านบัวเป็นอย่างดี มาประมาณ ๒๐ กว่าปีแล้ว โดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน ออกจำหน่ายแพร่หลายทั้งภายในจังหวัดและต่างจังหวัด

การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

       ความพอประมาณได้มีการวิเคราะห์ถึงศักยภาพชุมชมและประชาชน อีกทั้งทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนที่ได้นำมาใช้พัฒนาชุมชนและได้มีการทดแทนกลับคืนให้กับชุมชน โดยยึดหลักความพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป ไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นในชุมชน ความมีเหตุผลร่วมกันศึกษาวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจสังคมและทรัพยากรของชุมชนด้วยเหตุผลและความรู้ ความเข้าใจ แล้วจึงตัดสินใจนำไปใช้ในการทำแผนพัฒนาชุมชน สมาชิกในชุมชนมีการลงทุนในการดำเนินกิจกรรมร่วมกันด้วยความมีเหตุผล โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง มีการวางแผนรู้จักแยกแยะปัญหา อุปสรรค ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำเหล่านั้น ภูมิคุ้มกันมีการเตรียมความพร้อมรับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยทุกครัวเรือนมีการวางแผนการใช้จ่าย จัดทำบัญชีครัวเรือน ประหยัดและเก็บออม โดยเฉพาะชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้โดยการรวมกลุ่มและมีการจัดตั้งองค์กรช่วยเหลือคนในชุมชนยามเดือดร้อน เช่นกองทุนหมู่บ้าน โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นต้น มีการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาดและรอบคอบที่สามารถจะช่วยลดภาวะโลกร้อน ได้แก่ การผลิตแก๊สชีวภาพใช้เอง การปลูกป่าชุมชน การจัดการขยะโดยการแยกขยะ รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกและมีการออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ความรู้มีการนำหลักวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนประกอบอาชีพ ดำเนินกิจกรรมของชุมชน โดยผู้นำชุมชนเข้าร่วมฝึกอบรมพัฒนาความรู้ต่าง ๆ ที่มีประโยชน์สำหรับการประกอบอาชีพจากหน่วยงานราชการเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและนำความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดให้กับสมาชิกทุกคน โดยมีศูนย์เรียนรู้ชุมชนเป็นแหล่งศึกษาดูงานของทุกคนและบุคคลทั่วไป ได้แก่ การทำจุลินทรีย์จากหน่อกล้วย และผู้นำในหมู่บ้านรณรงค์ให้ครัวเรือนมีการผลิตและใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ เนื่องจากบ้านบัวมีการเลี้ยงสัตว์ (โค) มาก เพื่อลดต้นทุนการผลิตและช่วยในการรักษาคุณภาพดิน ทำให้ลดรายจ่ายจากการซื้อปุ๋ยเคมีได้ปีละ ๕,๐๐๐ บาท คุณธรรมมีการให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกันภายในชุมชน ได้แก่ มีเครือข่ายร่วมมือช่วยเหลือแบ่งปันกัน จัดกิจกรรมเสริมสร้างความอบอุ่นในครอบครัว เช่น กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา กิจกรรมแข่งขันกีฬาในหมู่บ้านทุกปี มีการส่งเสริมและพัฒนาวัดหรือศาสนสถานหรือแหล่งเรียนรู้ทางคุณธรรมจริยธรรม โดยใช้แนวทางการส่งเสริมความรู้คู่คุณธรรม มีอาสาสมัครที่ทำงานช่วยเหลือส่วนรวมด้วยจิตอาสาโดยไม่หวังค่าตอบแทน เช่น กลุ่มสตรี แม่บ้าน กลุ่มอสม. ชรบ. สตบ. อปพร. กลุ่มผู้สูงอายุ ฯลฯเพื่อให้โครงการนี้เป็นต้น แบบในการขยายผลในการดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างเป็นรูปธรรม และที่แสดงถึงคุณธรรมชัดเจนก็คือ การงดเหล้างานศพ ซึ่งถือเป็นกฎเคร่งครัดภายในชุมชน

ผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

      ชุมชนได้รับการคัดเลือกจากหน่วยราชการทั้งรับเงินรางวัลและโล่เกียรติยศ ดังนี้ พัฒนากรผู้ประสานตำบลได้คัดเลือกบ้านบัวเป็นหมู่บ้านหลักนักพัฒนา หมู่บ้านพึ่งตนเอง และยังอยู่ภายในการปกครองของกำนันดีเด่นปี ๒๕๕๑ เป็นหมู่บ้านที่ผ่านระบบ มชช. ปี ๒๕๕๑ โดยมีนายบาล บุญก้ำเป็นผู้ใหญ่บ้าน และมีผลงานเด่น คือ บ้านดอกบัว เป็นหมู่บ้านที่ชนะเลิศตามโครงการเชิดชูเกียรติผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนดีเด่น เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” และชนะเลิศหมู่บ้านพึ่งตนเอง ระดับจังหวัดพะเยา ในปี ๒๕๕๑ และผู้ใหญ่บ้านได้รับคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านดีเด่นประจำปี ๒๕๕๑ อีกทั้งกลุ่มจักสานเข่ง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศประเภทกลุ่มอาชีพดีเด่นตามโครงการเชิดชูเกียรติผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนดีเด่น เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็นเป็นสุข” ประจำปี ๒๕๕๑ และในปี ๒๕๕๒ บ้านบัวเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ระดับ “มั่งมี ศรีสุข” ตัวอย่างจังหวัดพะเยา

จุดเด่น

มีคณะผู้นำชุมชนที่มีความรู้ความสามารถและมีความพยายามสร้างผู้นำรุ่นใหม่มาทดแทน ส่งเสริมพัฒนาเยาวชน กิจกรรมวัฒนธรรม ดนตรีพื้นเมือง คนในชุมชนมีส่วนร่วมสูง มีประชาคมสม่ำเสมอ ทำโครงการบ้านน่าอยู่ ถนนน่ามองทุกสิ้นเดือน โดยไม่ต้องนัดหมาย มีอาสาสมัครหลายกลุ่ม อาทิ ชรบ. สตบ. อปพร. อสม. ผู้สูงอายุ อาสาพัฒนาชุมชนและหมอดิน เป็นต้น นำทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์เป็นอาชีพเสริม ได้แก่ การจักสานจากไม้ไผ่ทำให้เกือบทุกครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น ชุมชนรักษากฎกติกาเคร่งครัด มีการผลิตไบโอแก๊ส (Biogas) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนเกือบทุกบ้าน มีกิจกรรมเรียนรู้สร้างอาชีพใหม่ ส่งเสริมการใช้แรงงานวัวแทนเครื่องจักร กลุ่มปุ๋ยหมักเลี้ยงไก่พื้นเมือง อนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สร้างฝาย ปลูกไผ่เลี้ยง ห้ามจับลูกอ็อด แยกขยะ คุณธรรมชุมชน งดเหล้างานศพ ชุมชนเข้มแข็ง หนี้ยังไม่ลด แต่มีความสามารถใช้หนี้ตรงเวลา ไม่มีคนในชุมชนออกไปหางานทำนอกชุมชน

 

สรุป

      เพื่อให้โครงการนี้เป็นต้นแบบในการขยายผล ในการดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างเป็นรูปธรรมและที่แสดงถึงคุณธรรมชัดเจนก็คือ การงดเหล้างานศพ ซึ่งถือเป็นกฎเคร่งครัดภายในชุมชน

อินโฟกราฟิก :ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา

แหล่งอ้างอิง :

แหล่งอ้างอิงข้อมูล https://shorturl.asia/1Dv3y

การขับเคลื่อน “ธัชชา” กลไกสำคัญด้านวิชาการ วิจัยและพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศ

ศาสตร์ของพระราชา

ด้านการเกษตร
ด้านการส่งเสริมอาชีพ
ด้านคมนาคมและสื่อสาร
ด้านสวัสดิการและการศึกษา
ด้านสาธารณสุข
ด้านแหล่งน้ำ
ด้านสิ่งแวดล้อม

ติดต่อเรา

666 888 0000
isetassha@gmail.com
อ.เมือง จ.เชียงราย
57100