ความเป็นมาของการดำเนินโครงการ
นายประพันธ์ ศรีสุวรรณ เริ่มต้นชีวิตเกษตรกรในปี 2539 โดยการจับจองพื้นที่แห้งแล้งที่ไม่มีต้นไม้สักต้นและเริ่มเข้ามาพัฒนาปลูกพืชสวน พร้อมทั้งขุดบ่อน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและเลี้ยงปลาในปี 2540 ในช่วงเริ่มต้น นายประพันธ์ปลูกต้นมะขามและต้นมะม่วง ซึ่งในช่วงนั้นราคาดีมาก และได้ซื้อพันธุ์ปลานิลมาเพาะพันธุ์ในบ่อ แต่ประสบปัญหาเนื่องจากตัวบ่อที่ลึกเกินไปนั้นแต่ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ จึงต้องผันน้ำเข้าบ่อทุกวันให้มีน้ำเลี้ยงปลา และต้องขาดทุนจำนวนมากจากปัญหาปลาตายและเจริญเติบโตได้ไม่ดี ทำให้ขายไม่ได้ราคา ไม่มีรายได้ แถมยังขาดทุน แม้ 4 ปีต่อมาจะหันมาเลี้ยงปลาดุกแต่ปัญหาเดิม ๆ ก็ยังไม่หมดไป สุดท้ายก็ยังขาดทุนเช่นเดิม หลังจากขาดทุนซ้ำซากเป็นเวลาหลายปี นายประพันธ์จึงคิดทบทวนสาเหตุของการขาดทุน จึงได้ข้อสรุปว่าเป็นเพราะใช้ต้นทุนในการเกษตรสูงเกินไป” จึงคิดหาวิธีลดต้นทุน โดยนึกถึงสมัยก่อนว่าคนไม่ต้องใช้เงิน ไม่ต้องซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง หรืออาหารปลาก็ยังสามารถขายผลผลิตได้ คุณประพันธ์จึงเริ่มลองผิดลองถูก ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชอื่น ๆ เสริมเพื่อเพิ่มรายได้ เศษใบไม้ที่หล่นอยู่ตามพื้นก็เอามาทำเป็นปุ๋ยหมัก ส่วนไส้ปลาที่แม่ค้าในตลาดแล่ทิ้งก็สามารถเอามาเป็นอาหารเลี้ยงปลาได้ ต้นทุนในการทำเกษตรจึงลดลงไปมาก นอกจากนี้ คุณประสานยังหมั่นศึกษาหาความรู้และประสานความร่วมมือกับเกษตรอำเภออย่างต่อเนื่อง ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบทีละจุด ทีละส่วน นำกระบวนการทั้งหมดมาเชื่อมโยงกันเพื่อลดต้นทุนและสร้างรายได้ ดำเนินการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมงควบคู่ไปกับแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ และค่อย ๆ พัฒนาจากการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษในปี 2539 มาเป็นเกษตรอินทรีย์ในปี 2549 จนได้รับตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร
การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
1. ความพอประมาณ ทำเกษตรผสมผสานอินทรีย์แบบเน้นการพึ่งพาตนเอง นำสิ่งของเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้พื้นที่ทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งลดรายจ่ายเพื่อเพิ่มรายได้ ไม่สร้างหนี้สินให้เป็นภาระของครอบครัว ไม่เบียดเบียนตนเองและครอบครัวโดย ดำเนินงานตามศักยภาพที่มีอยู่ และทำการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
2.ความมีเหตุผล แก้ไขปัญหาการขาดทุนซ้ำซากด้วยหลักเหตุและผล ทบทวนถึงสาเหตุความผิดพลาดของตนเอง แล้วค้นคว้าวิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลในระบบนิเวศ ยึดหลักธรรมชาติพึ่งพาธรรมชาติ เมื่อระบบนิเวศมีความสมดุล ผลผลิตจะออกดอกออกผลตามฤดูกาล โดยไม่จำเป็นต้องฝืนธรรมชาติ จนในที่สุดสามารถหลุดพ้นจากภาระหนี้สินและประสบความสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์ 3. ภูมิคุ้มกัน การรู้จักเก็บออมและลงทุนทำการเกษตร แบบไม่เกินกำลัง ทำให้ไม่มีหนี้สินและ ดำเนินชีวิตแบบไม่เดือดร้อน สร้างความมั่นคง ทางอาหารด้วยการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลากหลาย ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอกด้วยการใช้ความรู้และภูมิปัญญ าลดต้นทุนการผลิต เช่น ใช้ไส้ปลาที่เหลือทิ้งจากตลาดมาทำเป็นอาหารปลา ผลิตและใช้ปุ๋ยหมักทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ปลูกพืชสมุนไพรช่วยไล่แมลง เป็นต้น ซึ่งสา มารถหลีกเลี่ยงรายจ่ายภายนอกที่มีราคาสูงได้ นอกจากนี้ การทำเกษตรอินทรีย์ยังทำให้ครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยเหมือนสมัยที่ยังใช้สารเคมี 4. ความรู้ เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ มุ่งมั่น ช่างสังเกต และ ศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาปรับปรุงแปลงเกษตรของตนเอง ใช้ความรู้และภูมิปัญญาในการลดต้นทุนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และศึกษา วิธีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ รวมถึงมีการต่อยอดองค์ความรู้โดยการรวมกลุ่มผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษ เพื่อพัฒนาการ ทำเกษตรอินทรีย์และหาตลาดรองรับผลผลิตภายในสวน 5. คุณธรรม ดำเนินตามแนวทางเกษตรอินทรีย์อย่างซื่อสัตย์ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทำการเกษตรแบบไม่เบียดเบียนธรรมชาติ จนได้รับตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
1. นายประพันธ์มีพื้นที่ทำการเกษตรแบบอินทรีย์ทั้งหมด 11 ไร่ แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้ – พื้นที่ทำนา 1 ไร่ – ปลูกไม้สัก 5 ไร่ – ปลูกกล้วยหอมทอง 2 ไร่ – บ่อน้ำ 2 บ่อ รวมขนาด 1 ไร่ (เลี้ยงปลาดุก ปลานิล และปลาตะเพียน) – ที่เหลือเป็นพื้นที่เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ ปลูกมะนาวนอกฤดู พืชผักสวนครัว และที่อยู่อาศัย 2. นอกจากรายได้จากการทำนาแล้ว ผักอินทรีย์ปลอดสารพิษที่ปลูกยังเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ขายได้กำไรดี ส่วนการเลี้ยงปลาหลากหลายประเภท และเลี้ยงด้วยอาหารจากธรรมชาติ ช่วยลดต้นทุนและสร้างรายได้ได้มากขึ้น นอกจากนี้ การปลูกพืชชนิดอื่น ๆ เช่น มะนาวนอกฤดู กล้วยหอมทองอินทรีย์ และไม้สักนั้นยังช่วยเสริมสร้างรายได้อีกไม่น้อย เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย แต่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะการปลูกต้นสักนั้นเป็นการปลูกโดยหวังผลระยะยาวการปลูกต้นสักไม่ยุ่งยากและ ไม่ต้องดูแล เพียงรดน้ำในช่วง 3 ปีแรก จากนั้น ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่จำเป็นต้องดูแลอีกเลย ปล่อยให้วัชพืชขึ้นเพื่อสร้างระบบนิเวศ จนกระทั่งปี 2563 ต้นสักอายุ 20 ปี คาดว่าจะขายได้ราคาต้นละถึง 10,000 บาท 3. เมื่อปี 2552 นายประพันธ์ได้รับรางวัลโล่เกียรติยศนายกรัฐมนตรี จากการประกวดผลงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
แหล่งอ้างอิง :
สํานักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (สํานักงาน กปร.)