มูลนิธิชัยพัฒนา

จุดเริ่มต้นของชัยชนะแห่งการพัฒนา

      พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง มูลนิธิชัยพัฒนา โดย ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกกิตติมศักดิ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่าง ๆ ในกรณีที่ต้องถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที จนเป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้อง หรือทันกับสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกระทำโดยเร็ว การที่มูลนิธิชัยพัฒนาเข้ามาดำเนินการเช่นนี้ ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง รวดเร็วฉับพลัน โดยไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่าการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นการช่วยให้กระบวนการพัฒนา เกิดความสมบูรณ์ขึ้น จากนั้น มูลนิธิชัยพัฒนาได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2531 และเป็นองค์การสถานสาธารณกุศล ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2531

เสริมจุดอ่อนสร้างจุดแข็ง

      มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการพัฒนาอื่น ๆ ให้การสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ ในกรณีที่ถูกจำกัดด้วยกฎ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เป็นการส่งเสริม การพัฒนาสงเคราะห์และช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพ ชีวิตที่ดีขึ้น และให้สามารถช่วยตัวเองและพึ่งตนเองได้ มีความร่มเย็นเป็นสุข และอยู่ดีกินดี อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศ คือ ชัยชนะแห่งการพัฒนา งานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นต้องทำเร็ว คิดเร็ว แก้ปัญหาเร็ว … เรื่องเช่นนี้ไม่อาจทำได้ในระบบระเบียบของทางราชการ เนื่องจากราชการมีขั้นตอน ระเบียบแบบแผนที่ยุ่งยากพอสมควร จะไม่ทันกับเวลาและปัญหาที่ต้องใช้ความรวดเร็ว … มูลนิธิฯ ดำเนินการเป็นตัวอย่างก่อน หากรัฐบาลเห็นสมควรว่ามีประโยชน์ก็นำไปทำต่อ หรือจะนำแบบอย่างไปทดลองที่อื่นก็ได้… “…ชัยชนะของประเทศนี้ โดยงานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นก็คือ ความสงบ … เป็น เมืองไทยที่มีความเจริญก้าวหน้า จนเป็นชัยชนะของการพัฒนาตามที่ได้ตั้งชื่อ มูลนิธิชัยพัฒนา ชัยของการพัฒนานี้มีจุดประสงค์ คือ ความสงบ ความเจริญ ความอยู่ดีกินดี…” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

จัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

      โครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 2,800 ไร่ ป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ใช้ที่ดินที่ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จัดสร้างเป็น โครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 เป็นสระเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ บนเนื้อที่กว่า 2,800 ไร่ ใช้ประโยชน์ในการรองรับน้ำที่ไหล่บ่ามาจากที่ราบลุ่มตอนบน นอกจากเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนใกล้เคียงมีน้ำใช้ ทั้งการอุปโภคบริโภค รวมถึงการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย การพัฒนาพื้นที่ตำบลศรีนาวา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เพื่อรวบรวมพันธุ์ไม้ท้องถิ่นและเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ คือ โครงการสวนรุกขชาติอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยใช้ที่ดินประมาณ 11 ไร่ ที่บ้านสบกเขียว ตำบลศรีนาวา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก จัดทำเป็นสวนสาธารณะชุมชนให้ราษฎรได้เข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลศรีนาวาเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงาน โครงการป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด ตำบลตกพรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี โครงการป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด ตำบลตกพรม ตำบล ตกพรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี จัดทำเป็นป่าชุมชนที่ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และดูแลป่า ให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

พัฒนาสังคม ปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม พัฒนาพลังงาน พัฒนาด้านอื่นๆ

พัฒนาสังคม วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกเป็นวัดแห่งแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นแบบอย่างในการก่อสร้างวัดที่มีขนาดเล็ก เน้นความประหยัด เรียบง่าย เป็นพุทธสถานในการประกอบศาสนกิจ เพื่อสืบทอดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจและศรัทธาของประชาชน ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ด้านสังคมและจริยธรรมแก่เยาวชนและประชาชนในชุมชน ขัดเกลาให้มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม เน้นการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมในลักษณะ บ-ว-ร คือ บ้าน วัด และโรงเรียน หรือหน่วยราชการ ซึ่งเป็นจุดเด่นของสังคมไทยในอดีตมาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีตั้งอยู่ ณ ที่ดินที่แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่แห่งนี้เป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเป็นย่านประวัติศาสตร์ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เคยประทับเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ โดยจัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถานที่แสดงถึงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นแหล่งศึกษาที่แสดงถึงความสัมพันธ์กลมกลืนกันของสังคมชุมชนชาวไทย จีน ลาว และมุสลิม ภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งพระมหากษัตริย์ไทยอีกด้วย นอกจากจะเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีแล้ว ยังเป็นสวนสาธารณะที่เป็นศูนย์รวมของชุมชนย่านคลองสานที่ประชาชนได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมสัมพันธ์ สร้างความรักใคร่สามัคคีระหว่างกัน ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนบ้านโรงวัว จังหวัดเชียงใหม่ และ บ้านบึงแวง ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลกเดิมผืนดินชุมชนบ้านโรงวัว จังหวัดเชียงใหม่นี้ มูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎร เข้ามาอยู่อาศัยและทำสวนผลไม้ เช่น ลำไย ในระยะแรกเน้นให้ราษฎรสามารถดำรงชีวิตได้อย่างพออยู่พอกิน เมื่อระยะเวลาผ่านไปราษฎรกลุ่มนี้ มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นชุนชนที่มีความเข้มแข็ง จนสามารถรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มในรูปของสหกรณ์ ในส่วนของผืนดินที่บ้านบึงแวง ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้จัดทำเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านบึงแวง เป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมการทำนาให้แก่ราษฎรในโครงการ โดยลดการใช้สารเคมี ซึ่งในปัจจุบันราษฎรกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความเข้มแข็งในการดำรงชีวิตอีกชุมชนหนึ่ง สหกรณ์โคนม จำกัด จังหวัดเพชรบูรณ์แต่เดิมสหกรณ์แห่งนี้ ได้ขอรับการสนับสนุนจากมูลนิธิชัยพัฒนา ในด้านการประกอบกิจการโคนม จัดตั้งกลุ่มเลี้ยงวัว และโรงนม ซึ่งในปัจจุบันสหกรณ์นี้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง และสามารถพัฒนาไปถึงขั้นผลิตอาหารสัตว์ครบวงจร อนึ่ง โครงการทั้ง 3 โครงการนี้ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาจากวิถีชีวิต พออยู่พอกินไปสู่การพึ่งตนเอง ได้ในที่สุดปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม – กังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นเครื่องกลเติมอากาศเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ (เครื่องกลเติมอากาศแบบ RX-2) โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานรูปแบบเครื่องกลเติมอากาศให้กรมชลประทาน ศึกษา วิจัย ทดลอง สำหรับการปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพื่อเป็นต้นแบบแก่หน่วยงานและประชาชนให้สามารถผลิตและใช้เองภายในประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย – แหลมผักเบี้ยเป็นต้นแบบการบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ เป็นการศึกษาและวิจัยเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและขยะมูลฝอย ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนโดยใช้กระบวนการทางธรรมชาติ 4 วิธี คือ การใช้ระบบบ่อผึ่งบำบัดน้ำเสีย การใช้ระบบกรองน้ำเสียด้วยหญ้า การใช้ระบบบำบัดน้ำเสียโดยใช้พื้นที่ชุ่มน้ำเทียม และการใช้ระบบบำบัดน้ำเสียโดยใช้แปลงป่าชายเลน ซึ่งดำเนินการอยู่ที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี – หญ้าแฝก ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงศักยภาพของหญ้าแฝก จึงพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 กับนายสุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาว่า ให้ศึกษาทดสอบการปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและอนุรักษ์ความ ชุ่มชื้นในดิน ซึ่งขั้นตอนการดำเนินงานเป็นวิธีการแบบง่าย ๆ ประหยัด และที่สำคัญ คือ เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ โดยไม่ต้องดูแลภายหลังการปลูกมากนัก หญ้าแฝกได้ช่วยป้องกันการพังทลายของดินขอบถนนบนพื้นที่สูงบนเส้นทางไปโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ช่วยพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพดินที่โครงการพัฒนาที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมา จากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี และดินดานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น พัฒนาพลังงาน – โรงงานต้นแบบในการหีบปาล์มน้ำมันขนาดเล็กตามแนวพระราชดำริ และ โรงงานผลิตไบโอดีเซลครบวงจร ณ โครงการชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ – โรงงานผลิตไบโอดีเซลครบวงจร ณ โครงการชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อเนื่องมาจากการดำเนินงานที่จังหวัดกระบี่ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส – โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านไบโอดีเซลเพื่อการแข่งขันได้ โครงการวิจัยการทดสอบใช้น้ำมันปาล์มแบบต่าง ๆ ผสมกับน้ำมันดีเซลในเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับการเกษตร และ ไบโอดีเซลผสมน้ำมันดีเซลในเครื่องยนต์ดีเซลสมัยใหม่สำหรับยานพาหนะ โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และโครงการศึกษาทดลองการปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนาทั่วประเทศ เพื่อศึกษาหาสายพันธุ์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ – มูลนิธิชัยพัฒนาจะเข้าไปให้การช่วยเหลืออย่างเป็นระบบเป็นขั้นตอนในการฟื้นฟูผู้ประสบภัย ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ระยะแรกเน้นการช่วยเหลือในด้านโครงสร้าง พื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น ที่อยู่อาศัย น้ำ ไฟฟ้า เป็นต้น จากนั้นจะดำเนินการในเรื่องของการฟื้นฟูอาชีพ เพื่อให้ราษฎรสามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติให้เร็วขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมอย่างครบวงจร – ขณะเดียวกัน มูลนิธิฯ ได้พัฒนาและปรับปรุงด้านสาธารณสุขและการศึกษาด้วย โดยการปรับปรุงสถานีอนามัยบ้านทุ่งรัก และโรงพยาบาลคุระบุรี ให้เป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงโรงเรียนบ้านทุ่งรัก และโรงเรียนคุระบุรีพิทยาคม เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการศึกษาให้แก่เยาวชนอีกด้วย การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ใช้วิธีการตามแนวพระราชดำริ ที่มีลักษณะประหยัด เรียบง่าย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และคำนึงถึงวิถีการดำเนินชีวิตของราษฎรเป็นสำคัญ เพื่อให้การพัฒนานั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรอย่างแท้จริง ทั้งในด้านความมั่นคงในการประกอบอาชีพและความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงและยั่งยืน

อินโฟกราฟิก :มูลนิธิชัยพัฒนา

แหล่งอ้างอิง :

กระทรวงวัฒนธรรม. (2559). 99 พระบรมราโชวาทน้อมนำราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุขศานต์. กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม.

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ. (2559). ตามรอยพ่อ ก-ฮ: รวม 309 คําที่คนไทยควรรู้ จากพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชดําริ พระราชดํารัส. สารคดี, สนพ.

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.

การขับเคลื่อน “ธัชชา” กลไกสำคัญด้านวิชาการ วิจัยและพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศ

ศาสตร์ของพระราชา

ด้านการเกษตร
ด้านการส่งเสริมอาชีพ
ด้านคมนาคมและสื่อสาร
ด้านสวัสดิการและการศึกษา
ด้านสาธารณสุข
ด้านแหล่งน้ำ
ด้านสิ่งแวดล้อม

ติดต่อเรา

666 888 0000
isetassha@gmail.com
อ.เมือง จ.เชียงราย
57100