มูลนิธิอานันทมหิดล

      แม่ฟ้าหลวง เป็นพระสมัญญานามที่ชาวไทยภูเขาใช้เรียก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ด้วยความรักและเทิดทูน เนื่องจากพระองค์มักเสด็จฯ มาเยี่ยมเยียนประชาชนบนภูเขาด้วยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง และทรงมาพร้อมกับสิ่งของพระราชทาน อาหาร เครื่องมือ และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับราษฎร ภาพจำของพวกเขาจึงเห็นพระองค์ท่านเปรียบเสมือนแม่ที่เสด็จฯ มาจากฟ้าเพื่อปัดเป่าให้ทุกคนพ้นทุกข์พ้นโศกโรคภัย โดยวัตถุประสงค์เริ่มแรกเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวเขา ด้วยการส่งเสริมและหาตลาดให้งานหัตถกรรมของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ รวมทั้งดูแลไม่ให้ชาวเขาเหล่านั้นถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง

มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระราชูปถัมภ์

      มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดิมชื่อ มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ใน พ.ศ. 2515 ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยฯ ได้ริเริ่ม โครงการผู้นำเยาวชนชาวเขา (Hill Tribe Youth Leadership) โดยได้รับพระราชูปถัมภ์ ร่วมกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ USAID (United States Agency for International Development) มีการนำเยาวชนชาวเขาจากหมู่บ้านห่างไกลความเจริญมาอยู่รวมกันแบบครอบครัว ให้ทุนเล่าเรียน และอบรมความประพฤติตามแนวพระราชดำริ ต่อมาใน พ.ศ. 2528 มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยฯ เปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรนครินทราบรมราชชนนี เพื่อรองรับการขยายขอบเขตการทำงาน ยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนทั้งในด้านสังคมเศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ได้แก่ พม่า อัฟกานิสถาน และอินโดนีเซีย

       ช่วยเขา ให้เขาช่วยตัวเขาเอง หลังจากที่สมเด็จย่าสวรรคตในปี พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นนายกกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2539 และเปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ห้วงเวลาสำคัญของมูลนิธิฯ ได้แก่

หมุดหมายสำคัญ

พุทธศักราช 2515 ก่อตั้ง มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พุทธศักราช 2530 พระราชดำรัสสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง เริ่มโครงการพัฒนาเต็มรูปแบบที่ดอยตุงและเริ่มการก่อสร้างพระตำหนักดอยตุงเพื่อเป็นที่ประทับทรงงาน พุทธศักราช 2531 โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 9,900 ไร่ เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเจริญพระชนมายุครบ 90 พรรษา พุทธศักราช 2532 ก่อตั้ง บริษัท นวุติ จำกัด เพื่อปลูกป่าเศรษฐกิจในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นวิสาหกิจกิจเพื่อสังคมแห่งแรกของประเทศไทย พุทธศักราช 2533 ก่อตั้ง ศูนย์ส่งเสริมอาชีพหัตถกรรม เพื่อฝึกอบรมการทอผ้าและเย็บผ้า ปัจจุบันเรียกว่า ศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือ โดยเปิดบริการร้านแม่ฟ้าหลวงแห่งแรกที่ดอยตุง ปัจจุบันร้านหัตถกรรมทั้งหมดมีชื่อใหม่ว่า ดอยตุงไลฟ์สไตล์ พุทธศักราช 2535 ก่อตั้ง ศูนย์บำบัดยาเสพติด ที่บ้านผาหมี เพื่อให้ผู้ติดยากว่า 500 คน กลับเข้าสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี

“แบรนด์ดอยตุง”

      เกิดจากโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เป็นโครงการต้นแบบการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2531 บนพื้นที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 93,515 ไร่ ให้ประโยชน์แก่ชาวบ้าน 29 หมู่บ้าน ประมาณ 11,000 คน ประกอบด้วยชนเผ่า 6 เผ่า
ในอดีต ชาวบ้านบนดอยตุงไม่มีสัญชาติ อยู่ในโลกแห่งการเอาตัวรอดและความยากจนแร้นแค้น โดยที่ไม่มีโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและการสนับสนุนใด ๆ จากภาครัฐ ทั้งยังมีกลุ่มติดอาวุธครอบครองพื้นที่บางส่วนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ดอยตุงซึ่งตั้งอยู่ใจกลางสามเหลี่ยมทองคำจึงเป็นแหล่งปลูกพืชเสพติด เผชิญปัญหาสังคมที่ซับซ้อน และมีธรรมชาติที่ถูกทำลายจากการแผ้วถางเพื่อทำไร่เลื่อนลอย
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนดอยตุงเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2530 และทรงเล็งเห็นว่ารากเหง้าของปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมบนดอยตุง คือ ความยากจนและการขาดโอกาสในการดำรงชีวิต จึงทรงมีพระราชดำริที่จะนำผืนป่ากลับคืนสู่ดอยตุง และฟื้นฟูดอยตุงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นับเป็นการให้โอกาสคนทุกหมู่เหล่าไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนา หรือสัญชาติใด ทำให้ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ มีความหวังอีกครั้ง
พระราชปรัชญาในการทรงงานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างมีสำนึกและพึ่งพาอาศัยกัน
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชดำริให้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ สามารถเลี้ยงตนเองได้ เพราะหากพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาล จะไม่เป็นการยุติธรรมกับประชาชนชาวไทยที่ไม่ได้อาศัยอยู่บนดอยตุง ความมั่นคงทางการเงินที่ควบคู่กับความก้าวหน้าทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

อินโฟกราฟิก :มูลนิธิอานันทมหิดล

แหล่งอ้างอิง :

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์. (n.d.). หลักการพัฒนา. เมื่อ 27 เมษายน, 2565, จาก https://www.maefahluang.org/how-we-work/

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา

การขับเคลื่อน “ธัชชา” กลไกสำคัญด้านวิชาการ วิจัยและพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศ

ศาสตร์ของพระราชา

ด้านการเกษตร
ด้านการส่งเสริมอาชีพ
ด้านคมนาคมและสื่อสาร
ด้านสวัสดิการและการศึกษา
ด้านสาธารณสุข
ด้านแหล่งน้ำ
ด้านสิ่งแวดล้อม

ติดต่อเรา

666 888 0000
isetassha@gmail.com
อ.เมือง จ.เชียงราย
57100