มูลนิธิอานันทมหิดล

      มูลนิธิอานันทมหิดลเเป็นมูลนิธิที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้น เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในหลวงรัชกาลที่ 8 และทรงสนับสนุนให้ประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญในวิชาการชั้นสูงที่ได้ศึกษาตามสาขาวิชาต่าง ๆ จากต่างประเทศ โดยเมื่อสำเร็จการศึกษา สามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประเทศชาติ

สืบสานพระราชปณิธาน

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มทดลองดำเนินการส่งคนไปศึกษาต่างประเทศด้วย ทุนอานันทมหิดลเมื่อ พ.ศ. 2498 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2502 และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 20,000 บาท เพื่อจัดตั้งมูลนิธิฯ กล่าวได้ว่าทรงสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ทรงได้ศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ เพื่อกลับมาทำประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทยและทรงพระราชทานทุนแก่นักศึกษาแพทย์ให้ได้ศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 8 ก็ทรงสนพระราชหฤทัยส่งเสริมกิจการแพทย์ของไทย และได้พระราชทานพระราชปรารภในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร และอนุปริญญาบัตรแก่ผู้จบหลักสูตรแพทย์พยาบาล ณ ศิริราชพยาบาล เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2489 ว่าประสงค์ให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน เป็นต้นกำเนิดของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ดังนั้น เมื่อ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตั้งทุนอานันทมหิดล ขึ้น ได้พระราชทานทุนแก่นักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ในเบื้องต้น และได้เพิ่มสาขาวิชาอื่น ๆ ในเวลาต่อมา

ปัจจุบันทุนพระราชทานเพื่อสนับสนุนการศึกษา แบ่งเป็น 8 แผนก ได้แก่

01 แผนกแพทยศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2502
02แผนกวิทยาศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2502
03 แผนกเกษตรศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2504
04 แผนกธรรมศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506
05 แผนกอักษรศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2506
06 แผนกทันตแพทยศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2535
07 แผนกสัตวแพทยศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2537
08 แผนกวิศวกรรมศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

ผู้รักษาและต่อยอดพระราชปณิธาน

      ผู้ได้รับพระราชทานทุนเป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือก มีความสามารถอย่างแท้จริง มีความคิดกว้างขวาง เปิดรับวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ได้ สามารถนำวิชาการที่ศึกษามาถ่ายทอดได้ แต่ไม่ทรงตั้งข้อผูกมัดทางเวลากาศึกษาหรือการกลับเข้ามารับราชการ ทรงอนุญาตให้เรียนจนถึงชั้นสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในศาสตร์นั้น ๆ ดังนั้น ผู้ที่ได้รับพระราชทานทุนจึงต้องมีความรู้ทางวิชาการดีเยี่ยม และเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม การคัดเลือกผู้ที่จะได้รับพระราชทานทุนของมูลนิธิอานันทมหิดล จึงต่างจากทุนอื่น ๆ คือ ไม่มีการประกาศรับสมัคร ไม่มีการสอบแข่งขัน แต่เป็นการแสวงหาและคัดเลือก โดยคณะกรรมการแผนกวิชาของแต่ละแผนก มีหน้าที่ติดตามแสวงหาผู้สมควรจะได้รับพระราชทานทุน และกลั่นกรองให้เป็นไปตามคุณสมบัติตามพระราชประสงค์ คณะกรรมการฯ จะพิจารณารวมไปถึงสถาบันที่ผู้รับทุนสำเร็จการศึกษามา และสถาบันที่จะส่งไปศึกษาต่อด้วย

ดอกผลแห่งความสำเร็จ

นับตั้งแต่เริ่มพระราชทานทุนจนถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับพระราชทานทุนและสำเร็จการศึกษากว่า 300 คน ผู้ได้รับพระราชทานทุนฯ ล้วนเป็นกำลังสำคัญในการทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม อาทิ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี อดีตประธานคณะสมัชชาปฏิรูปประเทศ และราษฎรอาวุโสศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร. วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

อินโฟกราฟิก :มูลนิธิอานันทมหิดล

แหล่งอ้างอิง :

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2559). Special Scoop เรื่อง จากพระราชปณิธานเพื่อการพัฒนา สู่ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล. BOT พระสยาม MAGAZINE, 6/2559, 6-9.

มูลนิธิอานันทมหิดล. (n.d.). ทุนอานันทมหิดล. เมื่อ 28 เมษายน, 2565, จาก https://ww1.anandamahidolfoundation.org/ สำนักราชเลขาธิการ. (2557, 5 กรกฎาคม). บันทึกงานของในหลวง ตอน ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=hM9qARIzFeg</p>

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. (n.d.). บทที่ 8 พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาในระบบการศึกษาในโรงเรียน. 3 กษัตริย์. เมื่อ 28 เมษายน, 2565, จาก https://3king.lib.kmutt.ac.th/King9CD/chapter8/page22.html

การขับเคลื่อน “ธัชชา” กลไกสำคัญด้านวิชาการ วิจัยและพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศ

ศาสตร์ของพระราชา

ด้านการเกษตร
ด้านการส่งเสริมอาชีพ
ด้านคมนาคมและสื่อสาร
ด้านสวัสดิการและการศึกษา
ด้านสาธารณสุข
ด้านแหล่งน้ำ
ด้านสิ่งแวดล้อม

ติดต่อเรา

666 888 0000
isetassha@gmail.com
อ.เมือง จ.เชียงราย
57100