ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงทรา และหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ

ความเป็นมา

      ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านการพัฒนาสภาพพื้นที่ที่แห้งแล้ง และขาดความอุดมสมบูรณ์ จนไม่สามารถทำการเพาะปลูกพืชได้ จนปัจจุบันสภาพพื้นที่นั้น รวมทั้งป่าไม้ และแหล่งน้ำ กลับมีสภาพอุดมสมบูรณ์สร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน และสามารถใช้ประโยชน์ในทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวทางการดำเนินงานพัฒนาให้แก่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สรุปได้ว่า ๑. พัฒนาศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ให้เป็นศูนย์ตัวอย่างรวมการพัฒนาด้านเกษตรกรรมที่สมบูรณ์ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ ฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาดิน การวางแผนปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยเกษตรกรและผู้ที่สนใจสามารถเข้าศึกษา ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม และนำไปปฏิบัติตามเพื่อพัฒนาอาชีพ และพัฒนาพื้นที่ทำกินของตนเอง เพื่อให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งเสริมศิลปาชีพ หัตถกรรมพื้นบ้านเป็นอาชีพเสริม เป็นการเพิ่มรายได้นอกเหนือจากอาชีพหลัก ๒. พัฒนาพื้นที่ราษฎรรอบนอกศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ บริเวณลุ่มน้ำโจนให้มีความเจริญขึ้น เป็นตัวอย่างแก่การพัฒนาพื้นที่อื่นต่อไป ๓. ให้นำวิธีการที่ผ่านการศึกษา ทดลองจนเกิดผลสำเร็จมาดำเนินการเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดมาดำเนินการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ เริ่มดำเนินการในระยะเริ่มต้นตั้งแต่ ปี ๒๕๒๒ จนปัจจุบันเป็นระยะเวลา ๓๓ ปี โดยดำเนินการพัฒนาในด้านต่างๆอย่างต่อเนื่องในด้านการพัฒนาที่ดิน แหล่งน้ำ และป่าไม้ รวมถึงทำการศึกษาทดลอง วิจัยเพื่อหาแนวทางการพัฒนาที่มีความเหมาะสม สอดคล้องกับภูมิสังคมในพื้นที่ ทั้งต้องมีความยั่งยืน ถูกต้องตามหลักวิชาการ และใช้เทคโนโลยีที่เรียบง่าย ประหยัด เกษตรกรสามารถนำไปดำเนินการด้วยตนเองได้

พื้นที่ดำเนินการ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ มีรูปแบบการบริหารจัดการในลักษณะบูรณาการร่วมกันระหว่างส่วนราชการ โดยมีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินงาน โดยทุกหน่วยงานสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ดำเนินการศึกษาทดลอง วิจัย โดยนำผลสำเร็จที่ได้ขยายผลไปสู่เกษตรกร เพื่อการพัฒนาอาชีพของตนเองให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ช่วยให้ราษฎรมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชม ศึกษาเรียนรู้ และฝึกอบรมในด้านการเกษตรซึ่งความรู้ที่ได้จากการอบรมสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ของตนเอง โดยได้ทำการศึกษาวิจัยทั้งหมดจำนวน ๑๑๒ เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน ๙๘ เรื่อง นำไปขยายผลจำนวน ๖๐ เรื่อง ยังอยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน ๑๔ เรื่อง ในปีงบประมาณ ๒๕๕๕ ได้ดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ ดังนี้ ๑. ด้านการศึกษา ทดลอง วิจัย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ทำการศึกษา วิจัย ทดลองมาแล้วทั้งสิ้นจำนวน ๑๑๔ เรื่อง และสามารถนำไปเผยแพร่ และขยายผลความสำเร็จไปสู่ประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดทำเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมจำนวน ๑๓ เรื่อง ประกอบด้วย ๑. การปลูกยางพารา ๒. การเพาะเห็ดเศรษฐกิจครบวงจร ๓. การปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในระบบการเกษตรแบบยั่งยืนในสภาพไร่นา ๔. หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ๕. การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง ๖. การผลิตและการใช้ประโยชน์จากปุ๋ยหมัก ๗. เกษตรทฤษฎีใหม่ ๘. การใช้หมากดิบในการถ่ายพยาธิในไก่พื้นเมือง ๙. การแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร ๑๐. การเพาะเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ และกระชัง ๑๑. การจักสานจากเส้นใยพืช ๑๒. การเลี้ยงเป็ดไข่ปากน้ำ ๑๓. การปลูกมะนาวนอกฤดูในบ่อซีเมนต์ ๒. งานขยายผล และถ่ายทอดเทคโนโลยี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้นำผลสำเร็จจากการศึกษา วิจัย ที่ได้รวบรวมเป็นหลักสูตรฝึกอบรมรวม ๑๓ หลักสูตร มาขยายผลความสำเร็จไปสู่เกษตรกรในพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ อาทิเช่น ด้านการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน การพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ด้านพืชไร่-พืชสวน ด้านปศุสัตว์ ด้านการประมง เป็นต้น ๒.๑ งานปรับปรุงบำรุงดินมุ่งดำเนินการฟื้นฟู ปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน โดยการฝึกอบรมเกษตรกรให้มีความรู้เรื่องการพัฒนาที่ดิน ส่งเสริมการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด และส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้จากไร่นา เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาอาชีพการเกษตร นอกจากนั้นมีการส่งเสริมการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยผลิตกล้าหญ้าแฝกพันธุ์สุราษฎร์ธานีจำนวน ๑,๐๕๖,๐๐๐ กล้า เพื่อแจกจ่ายเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้เรียนรู้การปลูกและขยายพันธุ์หญ้าแฝก ทั้งยังช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดินบริเวณริมคลอง และลำห้วย ๒.๒ งานพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรเพื่อให้เกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์และหมู่บ้านขยายผล มีน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อทำการเกษตรโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง โดยได้ทำการขุดสระน้ำประจำไร่นาให้เกษตรกรในพื้นที่จำนวน ๒๐ แห่ง ขุดบ่อน้ำตื้นจำนวน ๑๐๐ บ่อให้แก่เกษตรในพื้นที่ที่ขาดแคลน และซ่อมแซมฝายชะลอน้ำบ้านไร่แผ่นดินทองจำนวน ๔ แห่ง ๒.๓ งานส่งเสริม และเพิ่มศักยภาพด้านการเกษตรภายใต้แผนพัฒนาเด็กเล็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารเพื่อเป็นการช่วยเหลือให้นักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดนครนายก จำนวน ๕ โรง ได้เรียนรู้กิจกรรมการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันให้แก่นักเรียนเพื่อให้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ และถูกหลักโภชนาการ นอกจากนั้นยังทำการงานส่งเสริมศิลปาชีพสู่โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน ๔ โรง ประกอบด้วย งานจักสาน การทำไม้กวาด เป็นต้น ๒.๔ งานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรโดยดำเนินการในรูปแบบต่างๆเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้เรียนรู้การทำการเกษตรที่มีความหลากหลาย เป็นการสร้างรายได้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น – ผลิตกล้าสมุนไพร ๓๐ ชนิด จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ กล้า เช่น ไพล เสลดพังพอน ว่านสาวหลง และหญ้าหนวดแมว เป็นต้น ซึ่งการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพร เนื่องจากสามารถนำมาจำหน่ายให้แก่ศูนย์ฯ เพื่อทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่อไปได้ – ผลิตกล้าไม้กินได้จำนวน ๕๐,๐๐๐ กล้า เช่น มะขาม ขี้เหล็กบ้าน มะกอกน้ำเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีพืชอาหารไว้บริโภคในครัวเรือนอย่างเพียงพอ และสามารถนำผลผลิตไปจำหน่ายสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ได้ส่งเสริมอาชีพในด้านอื่นๆอีกเช่น ด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเก็บไว้รับประทานและสามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว เช่น การทำผลไม้ตากแห้ง แช่อิ่ม เป็นต้น รวมถึงการพัฒนากลุ่มเพาะเห็ดเศรษฐกิจจำนวน ๒ กลุ่มที่มีความเข้มแข็งให้สามารถทำงานได้ครบวงจรมากขึ้นด้วยการสนับสนุนหม้อนึ่งความดันในการทำอาหารเลี้ยงเชื้อเห็ด ทั้งยังส่งเสริมอาชีพด้านประมง และปศุสัตว์ให้แก่เกษตรกร เช่น การสาธิตการเลี้ยงนกกระจอกเทศการเลี้ยงกบนาในบ่อซีเมนต์หรือในกระชัง และการเลี้ยงปลากินพืช เป็นต้น ๓. งานอื่นๆ ๓.๑ ข้าวครบวงจรศูนย์ฯ ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการผลิตข้าวครบวงจรในหลายกิจกรรมตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการจำหน่าย เช่น – การพัฒนาเม็ดพันธุ์ข้าว โดยนำข้าวพันธุ์พื้นเมืองเดิมมาพัฒนาให้เป็นข้าวพันธุ์ดีประจำศูนย์ฯ และจัดทำแปลงการเรียนรู้การผลิตข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕ เพื่อทำพันธุ์คัด และทำพันธุ์หลัก ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าว ตลอดจนการแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารคุณภาพดีเพื่อบรรจุถุงเพื่อจำหน่าย โดยให้เกษตรกรจำนวน ๓๐ ราย เข้ามาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอน – ส่งเสริมการจัดตั้งโรงสีข้าวชุมชนที่หมู่ ๖ บ้านหนองแสง เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายการในการเดินทางและการแปรรูปข้าวให้แก่สมาชิกกลุ่มข้าว ซึ่งผลผลิตที่ได้จะนำมาบรรจุถุงเพื่อจำหน่ายช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิก และเป็นการส่งเสริมการผลิตข้าวแบบครบวงจร – การพัฒนาข้าวพันธุ์ดีประจำศูนย์ฯ โดยรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเดิมมาปลูกและประเมินลักษณะ เพื่อคัดเลือกเป็นข้าวพันธุ์ดีประจำศูนย์ฯ ๓.๒ ปุ๋ยสั่งตัดศูนย์ฯ ทำการเก็บตัวอย่างดินบริเวณพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ขยายผลจำนวน ๑๐ โรงเรียน เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหาร และคำนวณสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมตามค่าวิเคราะห์ และจัดทำแผนที่การจัดการดิน และการใช้ปุ๋ยสั่งตัด ๓.๓ พลังงานทดแทนศูนย์ฯ จัดทำแปลงขยายพันธุ์สบู่ดำเพื่อเก็บข้อมูลผลผลิตว่าในแต่ละสายพันธุ์ให้ผลผลิตต่อปีเป็นปริมาณเท่าใด แต่เนื่องจากพื้นที่บริเวณศูนย์ฯเขาหินซ้อนใช้เครื่องยนต์สมัยใหม่ซึ่งไม่สามารถใช้น้ำมันจากสบู่ดำได้ ๓.๔ การประชาสัมพันธ์ศูนย์ฯ ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น บอร์ดนิทรรศการเคลื่อนที่ โปสเตอร์ ป้ายสื่อความหมายตามงานจำนวน ๖๙ ป้าย นอกจากนั้นได้ทำการประชาสัมพันธ์ผ่านวิทยุกระจายเสียง และเว็บไซต์ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆไปสู่บุคคลทั่วไป ในปี ๒๕๕๔ มีผู้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ฯจำนวน ๑๑๐,๘๓๓ ราย ๓.๕ โครงการฟื้นฟูเกษตรกรหลังภาวะอุทกภัยตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสำนักงาน กปร. ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดทำโครงการฟื้นฟูหลังภาวะอุทกภัยตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในปี ๒๕๕๔ โดยรับผิดชอบในเขตพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว จังหวัดนครนายก จังหวัดสระบุรี และจังหวัดลพบุรี ดำเนินการอบรมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ๒๕๕๕ จำนวน ๑๐ รุ่น รวมผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น ๑,๐๙๕ คน ประกอบด้วย ๔ หลักสูตร คือ หลักสูตรที่ ๑ ด้านการขยายพันธุ์พืช และการทำน้ำหมักชีวภาพ มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวนทั้งสิ้น ๓๓๖ คน หลักสูตรที่ ๒ ด้านการปลูกเห็ดเศรษฐกิจ มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวนทั้งสิ้น ๒๑๓ คน หลักสูตรที่ ๓ ด้านการประมง มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวนทั้งสิ้น ๑๘๔ คน หลักสูตรที่ ๔ ด้านการเลี้ยงสัตว์ปีก มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวนทั้งสิ้น ๓๖๒ คน

ประโยชน์ที่ได้รับ

      การดำเนินงานของศูนย์ฯ ด้านการพัฒนาที่ดิน แหล่งน้ำ และป่าไม้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงดังนี้ พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๗.๔ ไม้ผลเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๓.๕ พืชสวนเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๑ นาข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๐.๔ แหล่งน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๗ ในส่วนกิจกรรมด้านการพัฒนาจะดำเนินการภายใต้กรอบของแผนแม่บทโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ๓ ยุทธศาสตร์คือ การบริหารจัดการ การศึกษา วิจัย ทดสอบด้านการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ และงานขยายผล โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ ศึกษาหาแนวทางการดำเนินอาชีพที่มีความเหมาะสมกับภูมิสังคม มีความเรียบง่ายเกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และนำไปขยายผลสู่ราษฎรเพื่อพัฒนาการประกอบอาชีพด้านต่างๆ เช่น การเกษตร ปศุสัตว์ เป็นต้น ปัจจุบันศูนย์ฯ สามารถขยายผลการดำเนินงานไปสู่เกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์เต็มพื้นที่ ๓ ตำบล ได้แก่ ตำบลเขาหินซ้อน ตำบลเกาะขนุน ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีรายได้เฉลี่ยจากเดิม ๔๐,๐๐๐ บาท/คน/ปี เป็น ๖๐,๐๐๐ บาท/คน/ปี สามารถจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริได้ ๔ ศูนย์ จัดตั้งกลุ่มอาชีพได้ ๓๙ กลุ่มอาชีพ และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงได้ ๑๒ ศูนย์ ซึ่งศูนย์เรียนรู้จะเป็นเครือข่ายให้แก่ศูนย์ฯในการขยายผล และเป็นตัวอย่างความสำเร็จไปสู่ประชาชนทั่วไปที่สนใจ โดยในปี ๒๕๕๔ มีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานภายในศูนย์ฯจำนวน ๑๑๐,๘๓๓ ราย

แนวทางการดำเนินงานต่อไป

     ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการโดยยึดแนวพระราชดำริเป็นแนวทางในการดำเนินงานศึกษา ทดลอง วิจัย เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่สอดคล้องกับภูมิสังคม และความต้องการของชุมชน และขยายผลความสำเร็จไปสู่ประชาชนเพื่อให้มีองค์ความรู้ ในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ในด้านการบริหารจัดการจะเพิ่มศักยภาพบุคลากรโดยส่งเสริมให้มีการฝึกอบรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาทักษะการทำงานด้านต่างๆ เพื่อให้การทำงานของศูนย์ฯ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อินโฟกราฟิก :ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงทรา และหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ

แหล่งอ้างอิง :

http://km.rdpb.go.th/Project/View/6545

การขับเคลื่อน “ธัชชา” กลไกสำคัญด้านวิชาการ วิจัยและพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศ

ศาสตร์ของพระราชา

ด้านการเกษตร
ด้านการส่งเสริมอาชีพ
ด้านคมนาคมและสื่อสาร
ด้านสวัสดิการและการศึกษา
ด้านสาธารณสุข
ด้านแหล่งน้ำ
ด้านสิ่งแวดล้อม

ติดต่อเรา

666 888 0000
isetassha@gmail.com
อ.เมือง จ.เชียงราย
57100