สถาบันราชประชาสมาสัย เป็นนามพระราชทาน อันหมายถึง พระราชาและประชาชนย่อมพึ่งพาอาศัยกัน โดยการสร้างเครือข่ายชุมชนให้มีภูมิคุ้มกัน ระบบการเฝ้าระวังโรค และระบบเตือนภัยสุขภาพในชุมชน เป็นชุมชนสังคมที่พึ่งพาอาศัยกัน ส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาสังคมของประเทศและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของชุมชนได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ทรงงานด้านสาธารณสุข เป็นเรื่องแรกนับตั้งแต่ครองราชย์
ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ของรัชสมัยของพระองค์ท่าน งานด้านนี้ก็เหมือนงานพัฒนาด้านอื่น ๆ ที่ทรงทำ คือมีการออกแบบและวางแผนเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวคิด การเตรียมการหรือการลงมือปฏิบัติงาน ล้วนเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ขอบข่ายของความสนพระราชหฤทัยด้านงานสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีถ้วนหน้านั้นกว้างขวางและครอบคลุม ทรงเริ่มที่ราษฎรผู้ยากจนเดือดร้อนหรือด้อยโอกาสในท้องที่ชนบทและบริเวณชายแดนห่างไกลของประเทศก่อน เพราะพวกเขาไม่สามารถหรือยากจนเกินกว่าจะไปขอรับการรักษาเป็นกิจจะลักษณะจากหน่วยงานสาธารณสุขใด ๆ ของรัฐได้ และจำนวนไม่น้อยไม่มีความรู้แม้แต่ว่า ทำอย่างไรจึงจะติดต่อขอรับการบริการได้ โครงการด้านสุขภาพหลาย ๆ โครงการของพระเจ้าอยู่หัวช่วยบรรเทาทุกข์เข็ญของราษฎรเหล่านี้ เป็นทั้งความช่วยเหลือแบบทันทีหรือแบบระยะสั้น และมีที่เป็นความช่วยเหลือระยะยาวด้วย
ต้านภัยโรคเรื้อน
โรคเรื้อนเป็นโรคที่พบมานานในประเทศไทย เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ ไม่ยอมรับ และไม่ได้รับการแก้ไขหรือได้รับการช่วยเหลืออย่างเท่าที่ควร จนเมื่อทรงตระหนักถึงปัญหาโรคเรื้อนของประชาชนชาวไทยอย่างจริงจัง พระองค์ได้พระราชทานทุนอานันทมหิดลให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดตั้ง ราชประชาสมาสัย ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2501 เพื่อเป็นสถานศึกษา ค้นคว้า วิจัย ฝึกอบรม และให้ความรู้เรื่องโรคเรื้อน ดังนั้น จึงถือวันนี้ของทุกปีเป็น วันราชประชาสมาสัย ในอดีตมีการรักษาโรคเรื้อนที่จังหวัดเชียงใหม่ ตามคำแนะนำของนายแพทย์ James W. Mckaen แพทย์มิชชันนารีชาวอเมริกันที่มารักษาโรคมาลาเรียที่เชียงใหม่และภาคเหนือ ในช่วง พ.ศ. 2430-2450 เข้าเฝ้าถวายคำแนะนำการรักษาโรคเรื้อนกับรัชกาลที่ 5 โดยเล่าวิธีการควบคุมโรคของประเทศแถบยุโรปว่า มีการสร้างสถานกักกันโรคแยกผู้ป่วยโรคเรื้อนจากคนทั่วไปเพื่อไม่ให้ระบาดสู่ชุมชน เพราะสมัยนั้นยังไม่มียารักษาโรคเรื้อน ดังนั้น จึงได้พระราชทานที่ดินในเชียงใหม่จำนวน 400 ไร่เพื่อสร้างบ้านพักผู้ป่วย หลังจากนั้นมาจึงได้จัดตั้งสถานพยาบาลรักษาโรคเรื้อนตามลำดับ คือ สถาบันแมคเคน ที่เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2451 โรงพยาบาลคริสต์เตียนมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เมื่อ พ.ศ. 2464 และที่ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย อำเภอพระประแดง ในพระราชินูปถัมภ์สมเด็จฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ใช่ชื่อ สำนักคนป่วยโรคเรื้อนพระประแดง จนถึง พ.ศ. 2484 กรมสาธารณสุขได้เปลี่ยนเป็นกระทรวงสาธารณสุข ได้สานต่อนโยบายรักษาโรคเรื้อนโดยออกพระราชบัญญัติโรคเรื้อนใน พ.ศ. 2486 เพื่อบังคับใช้กับผู้ป่วยโรคเรื้อนแยกผู้ป่วยไว้ในสถานการณ์พยาบาลตามแนวทางของยุโรป เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เพราะตอนนั้นยังไม่มียารักษาโรคที่ทันสมัย แต่มีการใช้น้ำมันกระเบาฉีดเข้ากล้ามเนื้อรักษาทุกสัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นยาที่ดีที่สุดในยุคนั้น การปรับโครงสร้างเป็นกระทรวงสาธารณสุขส่งผลให้สำนักคนป่วยโรคเรื้อนพระประแดงถูกโอนจากสภากาชาดไทยไปอยู่ภายใต้กองควบคุมโรคเรื้อน กระทรวงสาธารณสุข และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลโรคเรื้อนพระประแดง ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันราชประชาสมาสัยในสมัยรัชกาลที่ 9 ใน พ.ศ. 2501 ถือเป็นยุคเร่งค้นหาผู้ป่วยและรักษาโรคเรื้อนที่บ้าน โดยเริ่มหลังจาก พ.ศ. 2500 เป็นปีที่ รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริถึงงานโรคเรื้อนกับนายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น มีพระกระแสรับสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งจัดการกับปัญหาโรคเรื้อน โดยขอให้ใช้เวลารักษาเร็วขึ้นกว่าแผนที่นายแพทย์สวัสดิ์เสนอ พระองค์จึงคิดวิธีแก้ปัญหาโดยการให้เร่งสร้างบุคลากร เพื่อออกไปค้นหาผู้ป่วยมารักษา โดยพระราชทานทรัพย์จากทุนอานันทมหิดลเป็นทุนเริ่มแรก จำนวน 175,064.75 บาท และเงินที่ได้รับบริจาคจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จำนวน 100,000 บาท รวมทั้งเงินที่พ่อค้าประชาชนโดยเสด็จพระราชกุศล รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,236,600 บาท เพื่อพระราชทานให้กรมอนามัย นำไปจัดสร้างอาคาร 4 หลัง ในบริเวณสถานพยาบาลโรคเรื้อนที่ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าวิจัยโรคเรื้อน และฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยเฉพาะการเร่งรัดฝึกอบรมพนักงานบำบัดโรคเรื้อน (รับผู้จบ ม.6 เข้ารับการอบรมหลักสูตร 6 เดือน) ให้รวดเร็วเพียงพอต่อการขยายโครงการ วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2501 รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารหลังแรก กระทั่งวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2503 เป็นวันเปิดศูนย์อบรมและวิจัยโรคเรื้อนในบริเวณโรงพยาบาลพระประแดง โดยพระองค์ทรงพระราชทานนามว่า สถาบันราชประชาสมาสัย& และได้ทรงอธิบายความหมายว่า พระราชาและประชาชนย่อมพึ่งพาอาศัยกัน (Mutual support between the king and people) โดยทรงเน้นว่า เพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าวิชาการเกี่ยวกับโรคเรื้อน และทำการฝึกอบรมพนักงานที่ออกไปทำการบำบัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาตามแผนขยายงานควบคุมโรคเรื้อนต่อไป สถานที่นี้จึงเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่ใช้จัดการกับโรคเรื้อน ทุกวันที่ 16 มกราคมของทุกปี กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิราชประชาสมาสัย พร้อมผู้ป่วยในโรงพยาบาลจึงได้ร่วมกันจัดงาน วันราชประชาสมาสัย
สถาบันราชประชาสมาสัยมีพันธกิจดังต่อไปนี้
01 ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุม ตรวจวินิจฉัย รักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยโรคเรื้อน
02 กำหนดและพัฒนามาตรฐานการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมตรวจวินิจฉัยรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยโรคเรื้อน
03 ให้บริการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการตรวจวินิจฉัย รักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยโรคเรื้อนในระดับตติยภูมิ
04 ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม ตรวจวินิจฉัย รักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยโรคเรื้อนให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
05 ประสานและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุขในสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
06 ประสานและสนับสนุนการพัฒนาระบบกลไกและเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคเรื้อน
07 เป็นสถานกักกันผู้ป่วยโรคเรื้อน
08 ปฏิบัติงานร่วมหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
ทรงร่วมสู้ภัยโรคระบาด
ในช่วงต้นรัชกาล เกิดโรคระบาดร้ายแรง คือ อหิวาตกโรค วัณโรค โรคเรื้อน และโรคโปลิโอ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนหรือทำให้พิการเป็นจำนวนมาก โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์และสาธารณสุขจึงเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2493 พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่ผู้ป่วย โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สภากาชาดไทย ทำการศึกษาและพัฒนาน้ำเกลือมีคุณภาพซึ่งผู้ป่วยเป็นอหิวาตกโรคจำเป็นต้องใช้ ในปี 2496 ทรงให้ผลิตวัคซีนบี.ซี.จี.เอง สำหรับป้องกันวัคโรค และสำหรับโรคโปลิโอ โปรดเกล้าฯให้มีสถานที่รักษาผู้ป่วยด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด เป็นศูนย์ฟื้นฟูที่มีอุปกรณ์ครบครัน ส่วนด้านโรคเรื้อนนั้นพระราชทานพระราชดำริในการควบคุมโรค และโปรดเกล้าฯให้สถาบันราชประชาสมาสัย (พ.ศ. 2493) ซึ่งต่อมาเป็นมูลนิธิราชประชาสมาสัย (พ.ศ. 2503) ให้การรักษาและช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อน ตลอดจนปฏิบัติงานค้นคว้าวิจัยและเผยแพร่ความรู้เรื่องการป้องกันและรักษาโรคเรื้อน รวมกระทั่งถึงให้บริการด้านการฟื้นฟูร่างกายและการฝึกอาชีพ การควบคุมโรคเรื้อนไม่ให้ระบาดประสบความสำเร็จด้วยดี ในปัจจุบันอัตราผู้ป่วยจึงเป็นเพียง 0.11 เท่านั้นต่อจำนวนประชากร 10,000 คน และโรคระบาดร้ายแรงอื่น ๆ ก็ไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขอีกต่อไป พระราชทานพระราชทรัพย์จากทุนอานันทมหิดล เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้างอาคารวิจัยและฝึกอบรมวิชาโรคเรื้อน 1,236,000 บาท และเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2501 พระราชทานนามว่า สถาบันราชประชาสมาสัย โดยเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เปิดอาคาร เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2503 พร้อมรับกองทุนราชประชาสมาสัย มาอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และยกขึ้นเป็น มูลนิธิราชประชาสมาสัย ทรงมีพระราชอธิบายความหมายของคำว่า ราชประชาสมาสัยว่าหมายถึง พระราชาและประชาชนย่อมพึ่งพาอาศัยกัน ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นที่มีต่อผู้ป่วยโรคเรื้อน
อินโฟกราฟิก :สถาบันราชประชาสมาสัย
แหล่งอ้างอิง :
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (ก.d.). โครงการ สถาบันราชประชาสมาสัย. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). เมื่อ 23 เมษายน, 2565, จากhttp://km.rdpb.go.th/Project/View/8632
สถาบันวิจัย จัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค. (2552). 16 มกราคม วันราชประชาสมาสัย สถาบันรักษาโรคเรื้อน จากพระราโชบาย ร. 9. วารสารควบคุมโรค , ปีที่ 35(ฉบับที่ 3).
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.