วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตรวจเยี่ยมโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมความตอนหนึ่งว่า ควรพิจารณาสร้างฝายเก็บกักน้ำตามลำน้ำสาขาของห้วยฮ่องไคร้ โดยสร้างเป็นฝายแบบง่าย ๆ เช่น ฝายหินทิ้งคลุมด้วยตาข่าย และฝายแบบชาวบ้าน โดยดำเนินการก่อสร้างเป็นช่วง ๆ ทั้งในเขตพื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยน้ำชลประทาน และพื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยน้ำฝน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาป่าไม้ให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ต่อไป ควรเร่งการดำเนินงาน ปี พ.ศ. 2527 บางส่วน และภายในปีต่อ ๆ ไปตามความเหมาะสม และ เป้าหมายหลักของโครงการฯ แห่งนี้ คือ การฟื้นฟูและอนุรักษ์บริเวณต้นน้ำห้วยฮ่องไคร้ ซึ่งมีสภาพแห้งแล้งโดยเร่งด่วน โดยทดลองใช้วิธีการใหม่ เช่น วิธีการผันน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำในระดับบนลงไปตามแนวร่องน้ำต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ความชุ่มชื้นค่อย ๆ แผ่ขยายตัวออกไป สำหรับน้ำส่วนที่เหลือก็จะไหลลงอ่างเก็บน้ำในระดับต่ำลงไป เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรกรรมต่อไป ในการนี้ ควรเริ่มปลูกป่าทดแทนตามแนวร่องน้ำ ซึ่งมีความชุ่มชื้นมากกว่าบริเวณสันเขา ซึ่งจะทำให้เห็นผลโดยเร็ว นอกจากนั้น ยังเป็นการประหยัดกล้าไม้และปลอดภัยจากไฟป่าด้วย เมื่อร่องน้ำดังกล่าวมีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้นลำดับต่อไป ก็ควรสร้างฝายต้นน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อค่อย ๆ เก็บกักน้ำไว้แล้วส่งต่อท่อไม้ไผ่ส่งน้ำออกทั้งสองฝั่งร่องน้ำ อันเป็นการช่วยแผ่ขยายแนวความชุ่มชื้นออกไปตลอดแนวร่องน้ำ
สภาพทั่วไปของ “ขุนด่าน”
01 ลักษณะภูมิประเทศ อ่างเก็บน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล อยู่ในลุ่มน้ำนครนายก ซึ่งเป็นลุ่มน้ำย่อย ของลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำนครนายกครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอบ้านนา อำเภอปากพลี และอำเภอองครักษ์ของจังหวัดนครนายก มีเนื้อที่ 2,433 ตาราง-กิโลเมตร ต้นน้ำของแม่น้ำนครนยกเกิดจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งติดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มียอดเขาสูงประมาณ 1,000 – 1,300 เมตร 02 สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของลุ่มน้ำนครนายก ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนตุลาคม 03 สภาพน้ำฝน เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำมีเทือกเขาดงพญาเย็น (เขาใหญ่) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแนวปะทะของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีฝนตกชุก โดยเฉลี่ยประมาณ 2,600 ถึง 2,900 มม./ปี 04 สภาพน้ำท่า ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล ข้อมูลน้ำท่าเฉลี่ยมากที่สุดเดือนสิงหาคม มีปริมาณ 70.87 ล้าน ลบ.ม. น้ำท่าเฉลี่ยน้อยที่สุดเดือนมีนาคม มีปริมาณ 0.66 ล้าน ลบ.ม.รวมปริมาณน้ำเฉลี่ยทั้งหมด 292.45 ล้าน ลบ.ม.
รายละเอียดของ “ขุนด่าน”
เป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบพร้อมส่วนประกอบอื่น มีขนาดความจุอ่างเก็บน้ำ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ผิวอ่างฯ ที่ระดับเก็บกักปกติรวม 3,087 ไร่
เขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ
01 เขื่อนหลัก (Main Dam) เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัด (Roller Compacted Concrete หรือ RCC Dam) สูง 93 เมตร ระดับสันเขื่อน+112 ม.รทก. ความยาว 2,594 เมตร ปริมาตรคอนกรีตบดอัด 5,470,000 ลูกบาศก์เมตรพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ และ การขยายพันธุ์พืช 02 อาคารระบายน้ำล้น (Spillway) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,454 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ผ่านช่องระบาย 4 ช่อง มีรูปลักษณะเป็นฝายที่ระดับ +103.50 ม.รทก. ซึ่งควบคุมด้วย Radial Gate 4 ชุด ขนาดชุดละ 10.00 x 8.40 เมตร 03 อาคารระบายน้ำลงลำน้ำเดิม (River Outlet) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ควบคุมอัตราการไหลโดย Fixed Wheel Gate ขนาด 2.00 x 5.00 เมตร และ Butterfly Valve ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.0 เมตร โดยมีระดับธรณีท่อ +28.50 ม.รทก. ระบายผ่านท่อเหล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.0 เมตร และควบคุมการปล่อยลงท้ายน้ำด้วย Hollow Jet Valve 1.80 เมตร สามารถระบายน้ำได้ 42 ลูกบาศก์เมตร/วินาที 04 อาคารระบายน้ำ (Bottom Outlet) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีระดับธรณี +29.00 ม.รทก. ระบายน้ำผ่านช่องขนาดกว้าง 5.0 เมตร สูง 3.0 เมตร ควบคุมการไหลโดย Fixed Wheel Gate ขนาด 2.50 x 3.90 เมตร และ Radial Gate ขนาด 2.50 x 3.45 เมตร สามารถระบายน้ำได้ 182.0 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งสามารถลดระดับน้ำจากระดับเก็บกักที่ + 110.00 ม.รทก. ลงมาที่ระดับ +70.00 ม.รทก. ภายใน 10 วัน 05 อาคารส่งน้ำเข้าคลองชลประทาน (lrrigation Outlet) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ระบายน้ำผ่านท่อสแตนเลส ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.90 เมตร จำนวน 1 ท่อ มีระดับธรณี +38.45 ม.รทก. ควบคุมการไหลโดย Fixed Wheel Gate และ Butterfly Valve ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.70 เมตร รวม 2 ชุด ระบายน้ำลงคลองชลประทานโดย Hollow Jet Valve ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.70 เมตร (2 ชุด) สามารถส่งน้ำเข้าคลองได้รวม 6.05 ลูกบาศก์เมตร/วินาที 06 อาคารผันน้ำระหว่างการก่อสร้างเขื่อน ประกอบด้วย ทำนบดินปิดกั้นลำน้ำเดิม ขนาดสูง 12.00 เมตร ระดับสันทำนบ +39.00 ม.รทก. กว้าง 5.00 เมตร ความยาวรวม 1,084 เมตร อาคารคอนกรีต Retaining Wall ด้านเหนือน้ำและท้ายน้ำ ขนาดความสูง 12.00 เมตร และ 13.00 เมตร ตามลำดับ อาคารผันน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กแบบ 2 ช่อง ขนาด 7.00 x 9.00 เมตร และ 6.00 x 9.00 เมตร สามารถระบายน้ำได้ 700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (Return Period 20 ปี) โดยมีระดับธรณี +27.00 ม.รทก.
“ขุนด่าน”สานประโยชน์
ด้านการเกษตร
ส่งน้ำเพื่อการเกษตรให้กับพื้นที่รวม 185,000 ไร่ พร้อมทั้งวางแผนการปลูกพืช (พืชฤดูฝน 185,000 ไร่ พืชฤดูแล้ง 62,000 ไร่) มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 96 หมู่บ้าน 9,104 ครัวเรือน
ด้านการอุปโภค-บริโภค
การส่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค ของประชาชนในเขตเมืองนครนายก และเขตพื้นที่ส่งน้ำของโครงการฯ จำนวน 16 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี และส่งน้ำเพื่อใช้สอยสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี
ด้านการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว
พื้นที่ดินเปรี้ยวส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตอนล่างของพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก 165,000 ไร่ แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการผันน้ำจากเขื่อนขุนด่านปราการชลชำระล้างดินเปรี้ยวด้วยการส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ดังกล่าว ควบคู่กับการปรับปรุงบำรุงดินโดยการใช้ปูนขาวเพื่อลดความเป็นกรด และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์โดยใช้ปุ๋ยพืชสด ทำให้สามารถเพาะปลูกมีผลผลิตมากขึ้น
ด้านการป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัย
เขื่อนขุนด่านปราการชล มีความจุ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นปริมาณน้ำร้อยละ 23 ของปริมาณน้ำเฉลี่ยทั้งหมดของลุ่มน้ำนครนายก ซึ่งสามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครนายกได้ และยังช่วยลดปริมาณน้ำในแม่น้ำนครนายก ทำให้ระบายน้ำจากกรุงเทพมหานครผ่านคลองรังสิตมายังแม่น้ำนครนายกได้มากขึ้น
การเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำใต้ดิน
พื้นที่การเกษตร 20,000 ไร่ มีปริมาณน้ำใต้ดินเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จาก บ่อน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคในครัวเรือนมีน้ำตลอดปีจากเดิมที่จะแห้งในช่วงฤดูแล้ง และจากผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำใต้ดินพบว่า ในพื้นที่อำเภอองครักษ์และอำเภอเมืองบางส่วนมีระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้น โดยระดับน้ำลึกจากผิวดินทั่วไปประมาณ 1-1.5 เมตร
ด้านการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและประมง
เขื่อนขุนด่านปราการชลจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ ปลาชนิดต่าง ๆ และกุ้งก้ามกราม โดยตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบันได้ปล่อยสัตว์น้ำไปแล้วมากกว่า 20 ล้านตัว ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเป็นแหล่งอาหารแก่ประชาชน
ด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว
การระบายน้ำของเขื่อนขุนด่านปราการชลลงลำน้ำเดิมเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ปีละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลประโยชน์ต่อการพัฒนาและส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดนครนายก โดยเฉพาะในวันเสาร์และอาทิตย์ มีการปล่อยน้ำปริมาณ 100,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยว ทำให้เขื่อนขุนด่านปราการชลเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ที่มีภูมิทัศน์ที่สวยงามและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวสามารถล่องแก่งในลำน้ำได้ตลอดปี ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว
อินโฟกราฟิก :เขื่อนขุนด่านปราการชล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
แหล่งอ้างอิง :
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
Tantiwattanapanich, K. (n.d.). Khun Dan Prakan Chon dam. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. https://www.egat.co.th/en/information/power-plants-and-dams?view=article&id=480
Www.EZYNOW.com. (n.d.). โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา เขื่อนขุนด่านปราการชล จ. นครนายก. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา เขื่อนขุนด่านปราการชล จ. นครนายก. https://www.khundan.com/home.php