อุปกรณ์สำคัญในการทรงงาน
ทรงใช้แผนที่ 9 ระวาง ที่ทรงสร้างขึ้นมาด้วยพระองค์เองจากการตัดแปะแผนที่ตั้งต้นของกรมแผนที่ทหาร ขนาดมาตรฐาน 5 คูณ 12 เมตร มาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 ซึ่งมีความละเอียดสูงถึง 9 แผ่นเข้าไว้ด้วยกัน เนื่องจากหากใช้แผ่นเดียวจะไม่สามารถมองได้เป็นบริเวณกว้างขึ้น ไม่มีพิกัดที่ชัดเจน และไม่มีรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับภูมิประเทศ เช่น ร่องน้ำ หมู่บ้าน ป่าชนิดต่าง ฯลฯ ที่จำเป็นต่อการคิดและวางแผนงานพัฒนา การนำแผนที่ 9 ระวาง มาใช้ ทำให้ได้แผนที่ที่มีความละเอียดสูงและได้ภาพมุมกว้างในขณะเดียวกัน ทำให้แผนที่ส่วนพระองค์ที่ทรงถือไว้ตลอดเวลามีขนาดใหญ่มาก แต่ก็ทรงมีวิธีพับจนได้ขนาดเหมาะมือ พกพาได้สะดวก และนำออกมาใช้งานได้ง่ายด้วย ดังที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยตรัสให้ฟังว่า เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ พระองค์ท่านจะต้องใช้แผนที่เป็นคู่มือทุกครั้ง ในห้องทรงงานที่พระตำหนักทุก ๆ แห่งทั่วประเทศ จะมีแผนที่ประเทศไทยขนาดใหญ่ติดฝาห้อง และแผนที่ที่ขยายเฉพาะส่วนก็มีอีกหลายแผ่น ฉบับที่ทรงถือติดพระหัตถ์นั้น ความจริงมีขนาดใหญ่มาก เพราะทรงนำแผนที่มาต่อกันถึง 9 แผ่น หรือ 9 ระวาง แต่ทรงหาวิธีพับแบบพิเศษ จนมีขนาดที่ทรงถือได้สะดวก พลิกออกมาทอดพระเนตรได้ง่าย ทรงตรวจสอบแผนที่เสมอ ไม่ว่าจะเสด็จฯ ที่ไหน แม้ขณะทรงขับรถเอง ก็มีแผนที่วางอยู่ข้างพระองค์ตลอดเวลา
คู่มือการพัฒนาพื้นที่
ทรงเห็นความสำคัญของแผนที่มาก เนื่องจากต้องทรงงานในพื้นที่ทุรกันดารทั่วประเทศ โดยในช่วงกลางรัชกาล ทรงงานในต่างจังหวัดของประเทศไทยมากกว่า 8 เดือนต่อปี แผนที่ของพระองค์เป็นแผนที่ที่เป็นปัจจุบันและมีความแม่นยำที่สุดในประเทศ เพราะทรงปรับแก้ข้อมูลจากการลงพื้นที่จริงตลอดเวล ครั้งหนึ่งเสด็จไปหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่จังหวัดนราธิวาสและได้สอบถามประชาชนที่มารับเสด็จว่า ที่นี่ที่ไหน ผู้ถูกถามตอบว่า บ้านเจาะบากง เมื่อทรงตรวจสอบกับแผนที่พบว่าไม่มีชื่อหมู่บ้านดังกล่าว แต่กลับมีชื่อของอีกหมู่บ้านหนึ่งไม่มีอยู่แล้วเพราะประชาชนย้ายถิ่นฐานไปอีกแห่งหนึ่ง จึงทรงปรับแก้ข้อมูลในแผนที่ทันที แล้วส่งต่อให้นายทหารจดไว้เพื่อนำไปแก้ไขให้ถูกต้องในแผนที่ที่เป็นทางการต่อไป
เรื่องเล่าจากผู้ร่วมทาง
อินโฟกราฟิก :แผนที่ของพระราชา
แหล่งอ้างอิง :
กระทรวงวัฒนธรรม. (2559). 99 พระบรมราโชวาทน้อมนำราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุขศานต์. กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม.
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ. (2559). ตามรอยพ่อ ก-ฮ: รวม 309 คําที่คนไทยควรรู้ จากพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชดําริ พระราชดํารัส. สารคดี, สนพ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.