จากการที่ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในหลวงรัชกาลที่ 8 ไปทรงหว่านข้าวในแปลงนาทด ลองของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และการเสด็จไปทรงเยี่ยมพสกนิกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือและสถานีทดลองพันธุ์ข้าวพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เมื่อพ.ศ 2498 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเกิดความสนพระทัยในด้านเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นอย่างยิ่ง
“ข้าวหอมนางมล” กับ นาทดลอง ที่ไม่ใช่เพียงการทดลอง
ทรงทดลองทำนาด้วยพระองค์เองในเขตพระราชฐานวังสวนจิตรลดา และให้ฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้น จากนั้น ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 ทรงรับสั่งให้นำเมล็ดพันธุ์ ข้าวหอมนางมล มาเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ปลูกในแปลงนาสาธิตเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิจัยที่เกิดขึ้นในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ทรงตระหนักถึงความสำคัญของข้าวที่มีต่อวิถีของชาวไทย จึงทรงเชื่อมโยงการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการปลูกข้าวให้สอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรมของท้องถิ่น รวมถึงพัฒนาการผลิตข้าวให้ได้ผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภคทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ตามหลักสากลไปจนถึงสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของประเทศไทย ทรงให้นำเครื่องจักรมาใช้เป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การทำนาสมัยใหม่ ทรงให้นำเครื่องจักรไถนา หรือ ควายเหล็ก ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นเองเป็นครั้งแรกเพื่อใช้ไถนา เตรียมหน้าดินเพื่อใช้ในแปลงนาทดลอง ทรงทดลองขับรถไถ เตรียมแปลงปลูกข้าว หว่านข้าว และดำเนินการทุกขั้นตอนด้วยพระองค์เองจนได้ผลผลิตเกิดเป็นพันธุ์ข้าวพระราชทาน ที่ทรงมอบให้กรมการข้าวนำไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งได้ถูกนำไปบรรจุซองเพื่อแจกจ่ายให้กับพสกนิกรทั่วประเทศเพื่อเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ผู้รักษาและต่อยอดพระราชปณิธาน และส่งเสริมประเพณีที่มาเกี่ยวกับการทำนาของคนไทย
ผู้รักษาและต่อยอดพระราชปณิธาน ผู้ได้รับพระราชทานทุนเป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือก มีความสามารถอย่างแท้จริง มีความคิดกว้างขวาง เปิดรับวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ได้ สามารถนำวิชาการที่ศึกษามาถ่ายทอดได้ แต่ไม่ทรงตั้งข้อผูกมัดทางเวลากาศึกษาหรือการกลับเข้ามารับราชการ ทรงอนุญาตให้เรียนจนถึงชั้นสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในศาสตร์นั้น ๆ ดังนั้น ผู้ที่ได้รับพระราชทานทุนจึงต้องมีความรู้ทางวิชาการดีเยี่ยม และเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม การคัดเลือกผู้ที่จะได้รับพระราชทานทุนของมูลนิธิอานันทมหิดล จึงต่างจากทุนอื่น ๆ คือ ไม่มีการประกาศรับสมัคร ไม่มีการสอบแข่งขัน แต่เป็นการแสวงหาและคัดเลือก โดยคณะกรรมการแผนกวิชาของแต่ละแผนก มีหน้าที่ติดตามแสวงหาผู้สมควรจะได้รับพระราชทานทุน และกลั่นกรองให้เป็นไปตามคุณสมบัติตามพระราชประสงค์ คณะกรรมการฯ จะพิจารณารวมไปถึงสถาบันที่ผู้รับทุนสำเร็จการศึกษามา และสถาบันที่จะส่งไปศึกษาต่อด้วย ส่งเสริมประเพณีที่มาเกี่ยวกับการทำนาของคนไทยแม้ว่าจะทรงส่งเสริมให้มีการทำนาตามหลักวิชาการแบบสากล แต่ยังทรงส่งเสริมให้ทำไปอย่างสอดคล้องและกลมกลืนไปกับประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เป็นรากเหง้าของชาวไทย โดยเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ 2504 ได้ทรงให้จัดทำพิธีทำขวัญข้าวขึ้นเมื่อข้าวเริ่มตั้งท้องรอวันออกรวง ที่แปลงนาทดลองตามประเพณีโบราณ มีการตั้งศาลแม่โพสพ ปักฉัตร 9 ชั้น ปักธงสีต่าง ๆ รอบแปลงนา มีการแต่งบทร้องทำขวัญแม่โพสพและจัดตั้งเครื่องหอมแม่โพสพ ตัดแต่งใบข้าว เปรียบเป็นการตัดแต่งผมให้แม่โพสพ ซึ่งเป็นอุบายที่คนในสมัยก่อนคิดทำขึ้นเพื่อไม่ให้ต้นข้าวสูงเกินไปจนล้มพับเมื่อออกรวง ส่วนธงต่าง ๆ สามารถช่วยไล่นกกาที่จะมาจิกกินข้าวได้อีกด้วย เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวในแปลงนาทดลองแล้ว ในฤดูแล้ง ทรงมีพระราชดำริให้ปลูกพืชถั่วตระกูลต่าง ๆ และพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดและทานตะวัน
ปัจจุบัน พันธุ์ข้าวพระราชทานที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางได้แก่
1. ขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้า สามารถทนภาวะความแล้งได้ดี ทนต่อสภาพดินเปรี้ยวและดินเค็ม เมล็ดข้าวสารใส แกร่ง คุณภาพการสีดี เมื่อหุงเป็นข้าวสุก จะมีลักษณะนุ่ม มีกลิ่นหอม
2. ปทุมธานี 1 เป็นข้าวเจ้าที่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว โรคไหม้และโรคขอบใบแห้งได้ดี มีความนุ่มเหนียว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ
3. กข43 เป็นข้าวเจ้า มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 95 วันหากปลูกโดยวิธีหว่านน้ำตม ค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล คุณภาพเมล็ดดี เมื่อหุงแล้วข้าวสุกนุ่ม มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ
4. กข6 เป็นข้าวเหนียว ให้ผลผลิตสูง ทนแล้งดี ลำต้นแข็งปานกลาง ต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล คุณภาพการหุงต้มดี มีกลิ่นหอม
5. กข79 เป็นข้าวเจ้าที่มี อมิโลส (องค์ประกอบของแป้ง) ต่ำ ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคไหม้ เมื่อหุงแล้วข้าวสุกนุ่ม
โรงสีข้าวและเครื่องสีข้าวตัวอย่าง
ไม่เพียงทรงริเริ่มให้มีการทดลองทำนาในพื้นที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีเท่านั้น หากยังทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในเรื่องการขยายผลผลิตและการจัดการหลังเก็บเกี่ยว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอีกด้วย โดยใน พ.ศ. 2511 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงสีข้าวตัวอย่าง ขึ้นในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และสร้างยุ้งฉางแบบต่าง ๆ รวมถึงระบบระบายความชื้น เพื่อศึกษาสภาพที่เหมาะสมในการเก็บรักษาข้าวเปลือก เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการรวมตัวในรูปแบบกลุ่มสหกรณ์อันเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตและจำหน่าย มีการพัฒนาเครื่องสีข้าวแบบข้อเหวี่ยงในยุคเริ่มแรกเป็น เครื่องสีข้าวปิ่นแก้วที่สีข้าวได้ชั่วโมงละ 1 เกวียนโดยรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิจากชาวนาในภาคอีสาน และทรงเสวยข้าวจากโรงสีแห่งนี้จนเป็นที่มาของพระราชดำรัส ข้าวกล้อง เมื่อปี พ.ศ. 2541 ที่ประชาชนให้ความสนใจจุดประกายให้เกิดกระแสนิยมรับประทานข้าวกล้องในสังคมไทย นอกจากนี้ยังทรงให้จัดการแกลบจำนวนมากที่ย่อยสลายได้ยากด้วยการพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งส่งไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในระบบทำความเย็นสำหรับเครื่องปรับอากาศในการเพาะเลี้ยงเห็ดเมืองหนาวและศาลามหามงคลที่ใช้รับรองคณะเข้าเยี่ยมชมต่าง ๆ ในเวลาต่อมา เป็นต้นแบบในการนำวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
อินโฟกราฟิก :โครงการข้าวพันธุ์พระราชทาน
แหล่งอ้างอิง :
กรมการข้าว กรมการข้าว เตรียมแจก 5 พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน เนื่องในวันพืชมงคล ปี 2564 กรมประชาสัมพันธ์ กลุ่มนโยบายพิเศษ องค์ความรู้เรื่อง การพัฒนาข้าวไทย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ธรรมศักดิ์, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ห้าสิบปีโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๓ ทศววรษ ศูนย์การศึกษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที