จากการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย
โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ช่วยพลิกฟื้นและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและน้ำเน่าเสีย ฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน บริเวณลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี โดยเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2533 ทรงให้มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. กรมชลประทาน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับขยะมูลฝอยและน้ำเสียในชุมชน ซึ่งมีผลต่อการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีการทางธรรมชาติและรักษาธรรมชาติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มดำเนินงานศึกษาวิจัยตามโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา โดยดำเนินการในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ณ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ประมาณ 642 ไร่ สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 1 ใน 5 ของเทศบาลเมืองเพชรบุรี ส่งไปตามท่อยาวกว่า 18 กิโลเมตร เพื่อเข้าสู่ระบบบำบัด
เกิดเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ เพื่อกาพัฒนาสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ทำหน้าที่เป็นสถานที่จัดการประชุม อบรมสัมมนา และการบรรยายความรู้เกี่ยวกับการ ดำเนินงานด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ ที่มีความพร้อมสมบูรณ์สามารถรองรับผู้มาศึกษาดูงานและผู้สนใจทั่วไปได้อย่างเพียงพอ มีการแสดงนิทรรศการและผลงานทางวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความทันสมัยและมีความพร้อมของระบบต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนผู้มาเยี่ยมชมและผู้ที่สนใจทั่วไป และมีการให้การสนับสนุนการให้บริการศึกษาดูงานและฟังการบรรยาย รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคแก่คณะเยี่ยมชมและศึกษาดูงานโครงการฯ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี รวมทั้งเป็นพื้นที่ต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียโดยวิธีการธรรมชาติช่วยธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ เพื่อเผยแพร่สู่ประชาชนที่สนใจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
พระราชดำริในการบำบัดน้ำเสีย “ 4 ระบบ ”
บ่อบำบัดน้ำเสีย ให้น้ำเสียไหลมาแต่ละบ่อล้นผ่านอาคารระบายน้ำด้านบน และเชื่อมต่อกันทางตอนล่างของบ่อถัดไปเป็นลำดับ ก่อนที่จะนำคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ดำเนินการโดยการบำบัดน้ำเสียโดยใช้บ่อบำบัด 5 บ่อ ได้แก่ บ่อตกตะกอน 1 บ่อ บ่อผึ่ง 3 บ่อ บ่อปรับสภาพ 1 บ่อและแต่ละบ่อใช้เวลาการบำบัด 7 วัน ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย ให้น้ำเสียไหลผ่านแปลงหญ้าที่ช่วยปล่อยออกซิเจนจากรากลงไปเติมน้ำให้กลายเป็นน้ำดีระบบที่ใช้พืชและหญ้ากรองน้ำเสีย ได้แก่ หญ้าสตาร์ หญ้าคาลล่า หญ้าโดสครอส และพืชอื่น ๆ เช่น ธูปฤาษี กกกลม (กกจันทรบูร) หญ้าแฝก เป็นตัวกรองโดยให้น้ำเสียไหลผ่านแปลงหญ้ากรองน้ำเสียใช้เวลา 5 วัน และปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง 2 วัน เพื่อให้จุลินทรีย์ในดินได้ปรับสภาพโดยต้องตัดหญ้าเพื่อหญ้ามีอายุครบ 45 วัน ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม กลไกก็จะคล้ายกับระบบพืชและหญ้ากรอง แต่จะแตกต่างกันด้วยวิธีการ มีลักษณะการบำบัดคล้ายกับระบบที่สอง ซึ่งจะใช้พืชน้ำ 2 ชนิด คือ กกกลม (กกจันทรบูร) และธูปฤษี โดยต้องตัดต้นพืชเมื่ออายุครบ 60 วัน โดยการบำบัดน้ำเสียในขั้นตอนสุดท้ายของทั้ง 3 ระบบ จะปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วลงสู่ป่าชายเลนและไหลสู่ทะเล ระบบแปลงพืชป่าชายแลน โดยการให้ธรรมชาติบำบัดด้วยตัวของมันเองตามระยะเวลาการขึ้น-ลงของน้ำทะเลในแต่ละวัน ให้น้ำทะเลไหลเข้าสู่แปลงป่าชายเลนในช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุดในรอบวัน และปิดประตูระบายน้ำเพื่อขังน้ำทะเลไว้ แล้วปล่อยน้ำเสียเข้าไปในแปลงในอัตราส่วน 1 ต่อ 16 (น้ำเสีย 1 ส่วน ต่อน้ำทะเล 16 ส่วน) วิธีนี้เป็นกระบวนการที่อาศัยการขึ้นลงของน้ำทะเลธรรมชาติ การเจือจาง การเร่งการตกตะกอน พืชจะช่วยในการดูดสารอาหารจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ของจุลินทรีย์ในดิน เพื่อไปใช้ในการสร้างความเจริญเติบโตของพืชป่าชายเลน เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียที่ดำเนินการตามแนวพระราชดำรินี้คือใช้ธรรมชาติร่วมธรรมชาติ โดยท้องถิ่นสามารถนำไปดำเนินการได้ ซึ่งจะสามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย
ธรรมชาติแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่ง สวยๆ งามๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย
อินโฟกราฟิก :โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
แหล่งอ้างอิง :
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556) ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560).จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานทีสำนักงานประสานงานโครงการพื้นที่ 1. (2021, March 1)โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีสำนักงาน กปร.https://www.rdpb.go.th/th/Projects/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D-c38/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B
Hoyte et.al. (2012, March 2).Assessment of The Laem Phak Bia Environmental Research and Development Projects Out Reach Program. Worcester Polytechnic Institute (WPI).https://web.wpi.edu/Pubs/E-project/Available/E-project-030112-051220/unrestricted/IQPSSP5_Final_Report_-_Assessment_of_LERDs_Outreach_Program.pdf