โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

      จากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ ทำให้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประจักษ์ชัดถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร ทรงมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาการเกษตรของไทยให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้ง โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาขึ้น โดยทรงใช้พื้นที่บางส่วนของสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หาวิธีแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ถูกต้องตรงจุดด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นโครงการตัวอย่างเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร พระมหากรุณาธิคุณแก่เกษตรกรทั้งหลายเหล่านี้ ในเวลาต่อมาได้ขยายเป็นโครงการหลวงและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ทวีมากขึ้นตามกาลเวลา และล้วนแต่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่เกษตรกรในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ

ห้องทดลองกลางแจ้ง มุ่งแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยปัญญา

      โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา คือ แหล่งเรียนรู้ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมรวมทั้งผู้ที่สนใจทั่วไปโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการทดลองเพื่อมุ่งแสวงหามิติใหม่แห่งภูมิปัญญาทรงโปรดเกล้าให้ดำเนินการในพื้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานภายในเขตพระราชฐานที่ประทับของพระองค์เอง พระราชวังดุสิตเป็นพระราชวังที่ไม่เหมือนพระราชวังแห่งใดในโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นพระราชวังที่แวดล้อมด้วยการวิจัยและทดลองด้านเกษตรกรรมการปศุสัตว์การประมงป่าไม้งานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมมีทั้งโรงสีข้าวโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไปจนถึงอุตสาหกรรมการเกษตรพื้นฐานและประยุกต์เพื่อการผลิตแบบครบวงจรตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปีที่ทรงพัฒนาโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาทรงแสดงให้ประชาชนเห็นประจักษ์ถึงกระบวนการคิดการค้นคว้าบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์เพื่อความอยู่ดีกินดีความหวังความยั่งยืนของประเทศไทย พระวิสัยทัศน์กว้างไกลล้ำยุคสมัยและลุ่มลึกทรงศึกษาปัญหาถึงแก่นโดยทรงตระหนักว่าในระยะที่เริ่มดำเนินโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลเรื่องแนวคิดในการเป็นประเทศอุตสาหกรรมจากตะวันตกซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดจะช่วยให้สังคมเกษตรกรรมอย่างประเทศสามารถปรับเปลี่ยนให้เท่าทันกระแสโลกโดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ที่ดำรงมาแต่ป่าเก่าก่อนก็คือ ปัญญา

โครงการ 2 ประเภทใน “บ้านของพระราชา”

      โครงการที่ไม่ใช่ธุรกิจ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่สนองแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนากิจกรรมทางการเกษตร ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่ ทรงสนพระราชหฤทัยในการเกษตร ทรงปลูกต้นไม้หลายชนิดบนพระระเบียงชั้นบนพระตำหนักที่ประทับ และทรงทดลองการใช้ปุ๋ย ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยวิทยาศาสตร์ทุกชนิดด้วยพระองค์เองมาตลอด รวมถึงการเพาะพันธุ์ปลา จึงทำให้โครงการต่าง ๆ เกิดขึ้น หลายโครงการในสวนจิตรลดา นับตั้งแต่ พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา โครงการกึ่งธุรกิจเป็นโครงการทดลอง แปรรูปผลิตภัณฑ์จากการเกษตรที่มีการบริหารการ เงินครบวงจร โดยผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้บริโภคในราคาที่ไม่หวังผลกำไรและดำเนินการโดยมีการบริหารการเงินครบวงจร มีรายได้ รายจ่าย โดยไม่มีโบนัส แต่นำรายได้จากการจำหน่ายมาใช้พัฒนาโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาต่อไป

อินโฟกราฟิก :โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

แหล่งอ้างอิง :

ธรรมศักดิ์, จ., กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา. (1468). 50 ปีโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา. ปลานิลจิตรลดา. (n.d.). กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ. กรมประมง. เมื่อ 28 เมษายน, 2565, จากhttps://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/view_qr_group/113/1570 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.