พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โครงการพัฒนาสุขภาพอนามัยให้แก่ประชาชน ทรงให้ความสำคัญกับงานสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่าโครงการที่พระราชทานให้กับประชาชนในระยะแรก ๆ เป็นการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างสถานบริการสาธารณสุขและระยะต่อมาเป็นโครงการพัฒนาสุขภาพอนามัยให้แก่ประชาชน เมื่อประชาชนมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงจะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดีตามไปด้วย
ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือพลเมืองนั่นเอง ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแล บำบัดทุกข์ให้แก่เด็กนักเรียน และประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลหมอ และจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามความจำเป็นโดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปบนรถยนต์ และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลชนบท
ช่วยเขา ให้เขาช่วยตัวเขาเอง หลังจากที่สมเด็จย่าสวรรคตในปี พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นนายกกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2539 และเปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ห้วงเวลาสำคัญของมูลนิธิฯ ได้แก่
การอบรม “หมอหมู่บ้าน” ตามพระราชดำริ
ทรงมีพระราชดำริให้คัดเลือกราษฎรอาสาสมัครตามหมู่บ้านต่าง ๆ มารับการอบรมหลักสูตร หมอหมู่บ้าน โดยเริ่มต้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2525 เพื่อให้ราษฎรที่ได้รับการอบรมนำความรู้กลับไปช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นของตน การอบรมจะเน้นในเรื่องการสาธารณสุขมูลฐาน เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเวชศาสตร์ป้องกันอย่างง่าย ๆ การโภชนการ (โดยเฉพาะแม่และเด็ก) การติดต่อกับเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาลของรัฐคือสถานีอนามัย จนถึงโรงพยาบาลอำเภอและจังหวัด เจ้าหน้าที่ที่มาให้การสนับสนุนในการอบรมหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งพลเรือนและทหาร ทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายการแพทย์ สถานที่ดำเนินการฝึกอบรม ได้แก่ โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระราชนิเวศน์ตั้งอยู่ ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ งานทั้ง 2 ลักษณะข้างต้น มีพื้นที่ครอบคลุมในภาคเหนือตอนบน ประมาณ 10 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร มหาสารคม กาฬสินธุ์ เลย และในภาคใต้ 4
พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข
ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่าง ๆ ทุกครั้ง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ และล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้ป่วยไข้ได้ทันที ทรงเป็นห่วง และเอื้ออาทรต่อทุกข์สุขของพสกนิกรอย่างจริงจังจึงทรงได้ริเริ่มหลายโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่หลากหลายตามสถานการณ์และพื้นที่ขึ้น
โครงการพระราชทาน
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ประจำพระองค์ที่ตามเสด็จฯ ตรวจและรักษาคนไข้ ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2512 เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการชาวเขา และทรงพบว่าราษฎรที่มารอรับเสด็จป่วยเป็นไข้กันมาก โครงการประกอบด้วยการบำบัดรักษาจากคณะแพทย์พระราชทาน และอบรมหมอหมู่บ้าน เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุข ภาพอนามัยของราษฎร ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีอุปสรรคที่ระบบรักษาพยาบาลปกติไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราษฎรส่วนใหญ่ มีฐานะยากจน และขาดความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง การมีคณะแพทย์ พระราชทานออกไปบำบัดรักษา ผู้ป่วยจะทำให้ราษฎรมีโอกาสได้รับ การรักษาอย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องเสียทุนทรัพย์ใด ๆ สำหรับการ อบรมหมอหมู่บ้านนั้น จะช่วยให้ราษฎรมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน รู้จักวิธีรักษาพยาบาลแบบปัจจุบัน และรู้จักวิธีติดต่อกับหน่วยราชการ ในกรณีที่เกินขีดความสามารถที่จะดูแลรักษาตนเองได้ อันเป็นการช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้
โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน
ทรงริเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2510 เพื่อตรวจรักษาราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารโดยไม่คิดมูลค่า และถ้าจำเป็นก็จัดส่งไปยังโรงพยาบาลในจังหวัดต่าง ๆ ที่เสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม และในท้องถิ่น ต่าง ๆ ที่ห่างไกลตัวเมืองมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนยารักษาโรค ออกทำการตรวจรักษาและพยาบาลราษฎรโดยไม่คิดมูลค้าในท้องถิ่นกันดาร ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานประกอบด้วยการบำบัดและการรักษาจากคณะแพทย์พระราชทาน และการอบรมหมอหมู่บ้านเพื่อเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
โครงการตามพระราชประสงค์ หมายถึง โครงการที่ทรงศึกษาปฏิบัติส่วนพระองค์กับผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่าง ๆ เมื่อได้ผลดีแล้วจึงทรงนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน โดยโครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2517 เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของราษฎรที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส นิคมนี้ มีสถานีอนามัยเพียงแห่งเดียว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดแพทย์หมุนเวียนเข้าไปบริการตรวจรักษา โดยจะมีแพทย์และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล นราธิวาส และโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ออกไปปฏิบัติการสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นประจำ
หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน
ในปี 2512 ได้ทรงมีพระราชปรารภว่า เวลาพระองค์มีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษา แล้วเวลาราษฎรที่อยู่ห่างไกล จะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือเปล่า ในเวลาต่อมา ทรงทราบว่าทันตแพทย์นั้นมีน้อยและมีอยู่ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น บางจังหวัดก็ไม่มี พระองค์ทรงรับสั่งว่า การที่จะให้ราษฎรที่ยากจนที่มีปัญหาเรื่องฟัน หยุดการทำนาทำไร่ เดินทางไปหาแพทย์นั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงกันข้าม หากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง ทรงตรัสแก่ทันตแพทย์ประจำพระองค์ว่า ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ให้แก่นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นกันดารห่างไกล และจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดตามความจำเป็น โดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปโดยรถยนต์และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้าน ที่อยู่ ห่างไกล ชนบท หน่วยทันตกรรมพระราชทานจึงก่อกำเนิดขึ้น ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดซื้อรถยนต์ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือทำฟัน มีทันตแพทย์อาสาออกปฏิบัติงานโดยเริ่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2512 โดยมี ทันตแพทย์ สี สิริสิงห์ เป็นหัวหน้าทีม เพื่อส่งทันตแพทย์อาสาสมัครออกช่วยเหลือ บำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันแก่เด็กนักเรียนและประชาชน ที่อยู่ในท้องที่ทุรกันดารโดยไม่คิดมูลค่า ได้รับความร่วมมือจากทันตแพทย์โรงพยาบาลต่าง ๆ ในการออกปฏิบัติการภาคสนาม
โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 หลังจากที่เปิดโครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ใน พ.ศ. 2517 แพทย์ที่อาสาสมัครซึ่งเป็นแพทย์อาวุโสและมีประสบการณ์มาก เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีศัลยแพทย์อาสาไปช่วยปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลประจำจังหวัดสกลนคร ในช่วงที่เสด็จแปรพระราชฐาน ประทับที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จึงได้มีการศึกษาหาข้อมูล และความต้องการของโรงพยาบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ในด้านศัลยกรรม และ รวบรวมจัดทำทำเนียบศัลยแพทย์อาสา แล้วก่อตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์ขึ้นภายหลัง ทรงรับวิทยาลัยศัลยแพทย์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ เปลี่ยนชื่อเป็น ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ทรงมีพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาแพทย์ศาสตร์ตอนหนึ่งว่า โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน ทรงมีพระราชดำริให้เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2522 เนื่องจากมีราษฎรเป็นจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคหู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้ ซึ่งจำเป็นต้องรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาเหล่านี้ โปรดเกล้าฯให้จัดหน่วยแพทย์อาสาสมัครในโรคดังกล่าว ผลัดกันออกไปปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่เสด็จแปรพระราชฐานโดย อาศัยแพทย์หู คอ จมูกอาสาสมัครจาก โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลประจำจังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลประจำจังหวัดนครพนม ผลัดเปลี่ยนกันมาปฏิบัติราชการชุดละ 2 สัปดาห์ เริ่มที่จังหวัดนราธิวาสก่อน ต่อมาขยายการปฏิบัติงานไปที่จังหวัดสกนนคร และที่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่
โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์
ความเจ็บป่วยของราษฎรเกิดจากการไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง ประกอบกับไม่มีสถานพยาบาล หรืออยู่ไกล บ้างก็เกิดจากการบริโภคอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ จึงมีพระราชดำริจัดตั้ง โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์ โดยคัดเลือกคนในหมู่บ้านรับการฝึกอบรม การรักษาพยาบาลเบื้อต้น การรักษาโรคอย่างง่าย เพื่อสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมหมู่บ้านได้ โดยใน พ.ศ. 2517 เริ่มบรรเทาความเจ็บปวดของราษฎรที่นิคม สร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส นิคมนี้มีสถานีอนามัยเพียงแห่งเดียว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดแพทย์หมุนเวียนเข้าไปบริการตรวจรักษา แพทย์และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล นราธิวาส และโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ออกไปปฏิบัติการสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นประจำ โครงการมากมายเหล่านี้ แสดงถึงความตั้งพระทัยในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรอย่างแท้จริง ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า ทรงยึดมั่นที่จะสืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย และสมเด็จพระบรมราชชนนี พระมารดาของการแพทย์ชนบท ในการที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติสืบไป
อินโฟกราฟิก :มูลนิธิอานันทมหิดล
แหล่งอ้างอิง :
โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข. (n.d.). โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข. สำนักงาน กปร. เมื่อ 20 เมษายน, 2565, จาก shorturl.at/etyGZ
ชมรมจริยธรรม. (n.d.). พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข. เมื่อ 26 เมษายน, 2565, จาก https://nih.dmsc.moph.go.th/jariyatam/home5.html
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.