ทศมราชากับเกษตรวิชญาโครงการเกษตรวิชญา เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงพระราชทานที่ดิน ส่วนพระองค์ในพื้นที่สวนบ้านกองแห หมู่ที่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,350 ไร่ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินการในลักษณะคลินิกเกษตร
แหล่งขุมทรัพย์แห่งปัญญาทางการเกษตร
บริเวณโครงการแบ่งพื้นที่การใช้สอยออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย ศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรบนพื้นที่สูง เนื้อที่ 138 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สาธิต ด้านดิน พืช ปศุสัตว์ ประมง การจัดการน้ำ รวมทั้งการเรียนรู้เรื่องบัญชีครัวเรือน และการสหกรณ์ ธนาคารอาหารชุมชน เนื้อที่ 123 ไร่ เป็นพื้นที่สวนป่าผสมผสาน เป็นแหล่งอาหารของชุมชนกองแหะ สร้างเป็นพื้นที่ต้นแบบธนาคารอาหารชุมชน พื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า เนื้อที่ 918 ไร่ ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง แปลงเกษตรกร เนื้อที่ 139 ไร่ จัดเป็นพื้นที่ทำกินของเกษตรกรบ้านกองแหะ จำนวน 55 ราย รายละ 1 ไร่ โดยถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ พื้นที่ทรงงาน เนื้อที่ 32 ไร่ เป็นพื้นที่สวนป่า ปลูกไม้ยืนต้น สร้างความร่มรื่น
เพาะชำกล้าไม้โตเร็วจำนวน 50,000 กล้า เพื่อแจกจ่ายให้ราษฎรนำไปปลูกขยายผลใช้ประโยชน์ในชุมชนและครัวเรือนปลูกป่าไม้ใช้สอย ไม้โตเร็ว จำนวน 120 ไร่ เพื่อให้ราษฎร มีพื้นที่ป่าไว้ใช้ประโยชน์เป็นถ่านฟืนหุงต้มอาหาร และดำเนินกิจกรรมส่งเสริมราษฎรผลิตและ ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล จำนวน 2 หมู่บ้านอีกทั้งจัดฝึกอบรมหลักสูตร การผลิตและใช้เชื้อเพลิง อย่างมีประสิทธิภาพ แก่ราษฎรจำนวน 30 คน ทำให้ราษฎรจำนวน 2 หมู่บ้าน ได้เรียนรู้การผลิตและนำเชื้อเพลิงจากวัสดุชีวมวลมาใช้สอยในชีวิตประจำวันและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น มีวัสดุเชื้อเพลิงทดแทนการใช้ไม้ฟืน ลดปริมาณการใช้ไม้ฟืนจากป่าธรรมชาติราษฎรได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ปลูกไม้ฟืน จำนวน 120 ไร่ ส่งผลให้ราษฎรเกิดความรักความหวงแหนทรัพยากรป่าไม้และเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
เชื่อมโยงศาสตร์สากลกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
รวบรวมความรู้ทางการเกษตรทั้งด้านวิชาการและภูมิปัญญาชาวบ้านท้องถิ่น ความสำเร็จถูกสร้างขึ้นด้วยการผสมผสานทั้งเทคนิคการเกษตรสมัยใหม่ควบคู่ไปกับวัฒนธรรมการเกษตรพื้นบ้าน ทั้งในแง่ของการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าไม้ และการนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมชองชาวบ้านเกษตรกรท้องถิ่นมาร่วมกับวิชาการเกษตรและวิชาการพัฒนาที่ดินกลายเป็นเป็นวิถีปฏิบัติอย่างมีเหตุผลตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้ความเข้าใจในการเกษตรที่ต้องอิงอาศัยธรรมชาติอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรในพื้นที่และรอบ ๆ เข้าถึงง่ายในการใช้ประโยชน์และมีส่วนร่วม ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคง มีความสุขเพียงพอ วิถีปฏิบัติอย่างมีเหตุผลของคนกับป่า ด้วยวัฒนธรรมพื้นบ้านกับวิชาการสมัยใหม่ ในพื้นที่โครงการเกษตรวิชญา คือทรัพย์ทางปัญญาล้ำค่าอันได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ด้วยพระราชดำริตามรอยพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ ๙ อันนับเป็นหนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณอันสูงสุดต่อแผ่นดิน ต่อปวงชนชาวไทยและโลกของเรา
อินโฟกราฟิก :โครงการเกษตรวิชญา
แหล่งอ้างอิง :
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ๓ ทศวรรษ ศูนย์การศึกษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2556). ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). (2560). จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2553). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘๔ พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2561). ผลสำเร็จจากองค์ความรู้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2560.